ทำความรู้จัก “เครื่องหมายหุ้น” แต่ละตัวหมายถึงอะไร ?

ทำความรู้จักเครื่องหมายหุ้น แต่ละตัวหมายถึงอะไร
Table of Contents

สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนในหุ้น หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาตลาดหุ้น หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า ตัวอักษรหลังชื่อหุ้นมันคืออะไรกันนะ? คุณน้าจะมาหาคำตอบให้ในบทความนี้กันค่ะว่า เครื่องหมายหุ้นแต่ละตัวหมายถึงอะไร ทำไมนักลงทุนถึงต้องให้ความสนใจ และเครื่องหมายหุ้นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็ไปติดตามกันได้เลยค่ะ

เครื่องหมายหุ้นคืออะไร?

เครื่องหมายหุ้นคืออะไร?

เครื่องหมายหุ้น คือ สัญลักษณ์หรือชุดอักษรที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ใช้กำกับเพื่อบ่งชี้ข้อมูลสำคัญบางประการของหุ้นนั้น ๆ ให้นักลงทุนทราบ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีการกำกับเครื่องหมายเหล่านี้ไว้หลังชื่อหุ้นบนกระดานซื้อขาย เพื่อให้นักลงทุนทราบรายละเอียดเบื้องต้นก่อนทำการซื้อขายค่ะ

เครื่องหมายหุ้นสำคัญอย่างไร?

ความสำคัญของเครื่องหมายหุ้น คือ การเป็นสัญลักษณ์ในการบ่งชี้ประเภทของหุ้นแต่ละตัว ทำให้นักลงทุนสามารถทราบรายละเอียดสำคัญโดยย่อของหุ้นนั้น ๆ ได้ค่ะ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสิทธิประโยชน์หรือคำเตือน ดังนั้น เราจึงควรทำความรู้จักเครื่องหมายหุ้นแต่ละตัวว่าหมายถึงอะไรก่อนเริ่มลงทุน เพื่อความสะดวกและไม่พลาดข้อบ่งชี้ต่าง ๆ นั่นเองค่ะ

ทำความรู้จักเครื่องหมายหุ้นแต่ละประเภท

เครื่องหมายในตลาดหุ้นมีเป็นจำนวนมาก เราจะทราบได้อย่างไรว่าแต่ละตัวหมายถึงอะไร ใช่คำเตือนหรือไม่ คุณน้าสรุปเครื่องหมายหุ้นให้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ

1. เครื่องหมายหุ้นประเภทสิทธิประโยชน์

เครื่องหมายหุ้นประเภทสิทธิประโยชน์นี้ เป็นเครื่องหมายที่หมายถึง การไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านนั้น ๆ หากทำการซื้อขายในวันที่มีสัญลักษณ์ดังกล่าวปรากฏค่ะ ดังนั้น เราอาจจะเรียกเครื่องหมายกลุ่มนี้ว่า “สัญลักษณ์ X” ก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจำและนำไปใช้ค่ะ 

โดยเครื่องหมายหุ้นที่มีสัญลักษณ์ X จะประกอบไปด้วย 12 ตัว ดังนี้ค่ะ

  • XD (Excluding Dividend) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
  • XR (Excluding Right) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
  • XW (Excluding Warrant) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์
  • XS (Excluding Short-term Warrant) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้น
  • XT (Excluding Transferable Subscription Right) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
  • XI (Excluding Interest) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
  • XP (Excluding Principal) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
  • XA (Excluding All) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิทุกประเภทที่บริษัทประกาศให้ในคราวนั้น
  • XE (Excluding Exercise) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
  • XM (Excluding Meetings) : ผู้ซื้อไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
  • XN (Excluding Capital Return) : ผู้ซื้อไม่มีสิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน
  • XB (Excluding Other Benefit) : ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ ในกรณีสิทธิจองซื้อหุ้นบุริมสิทธิที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ, สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ, สิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือ


ตัวอย่างเครื่องหมายหุ้นประเภทสิทธิประโยชน์

ตัวอย่างเครื่องหมายหุ้น

2. เครื่องหมายหุ้นประเภทคำเตือน

เครื่องหมายหุ้นประเภทคำเตือนนี้ เป็นเครื่องหมายที่หมายถึง คำเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงการห้ามให้มีการซื้อขายค่ะ ดังนั้น หากเครื่องหมายดังกล่าวปรากฏให้พึงระวังไว้ได้เลยค่ะ! โดยเครื่องหมายหุ้นในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ 7 ตัว ดังนี้ค่ะ

  • H (Trading Halt) : การห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว ซึ่งอาจเกิดจากข่าวที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น แต่บริษัทยังไม่ได้แจ้งข้อมูล หรืออยู่ระหว่างรอการเปิดเผยข้อมูล หรือมีเหตุอื่นที่อาจกระทบต่อการซื้อขายอย่างร้ายแรง
  • SP (Trading Suspension) : การห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับการขึ้นเครื่องหมาย H แต่บริษัทยังไม่สามารถชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ หรืออาจฝ่าฝืน – ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ส่งงบการเงินให้ภายในเวลากำหนด
  • NP (Notice Pending) : บริษัทมีข้อมูลที่ต้องรายงาน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
  • NR (Notice Received) : ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัทแล้ว
  • NC (Non-Compliance) : บริษัทที่เข้าข่ายการถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • ST (Stabilization) : หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อหุ้นเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน
  • C (Caution) : บริษัทมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ


ตัวอย่างเครื่องหมายหุ้นประเภทคำเตือน

ตัวอย่างเครื่องหมายหุ้น

3. เครื่องหมายหุ้นประเภทการกำกับการซื้อขาย

เครื่องหมายหุ้นประเภทการกำกับการซื้อขายนี้ เป็นเครื่องหมายที่หมายถึง หลักทรัพย์ดังกล่าวเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย หรือก็คือ หุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติทำให้ติดแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ค่ะ ซึ่งเราอาจเรียกเครื่องหมายกลุ่มนี้ว่า “สัญลักษณ์ T” ก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจำและนำไปใช้ค่ะ โดยเครื่องหมายหุ้นในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์เพียง 1 ตัว แต่แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ค่ะ

  • T1 (Trading Alert Level 1) : ระดับ 1 Cash Balance
  • T2 (Trading Alert Level 2) : ระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance
  • T3 (Trading Alert Level 3) : ระดับ 3 ห้าม Net Settlement, ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance

คุณน้าขอเพิ่มเติมคำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายตัว T ให้สักหน่อยนะคะ

  • Cash Balance คือ การกำหนดให้นักลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ ซึ่งเป็นการวางหลักประกันที่เป็นเงินสดไว้กับโบรกเกอร์แบบเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์เท่านั้นค่ะ
  • การห้ามคำนวณเงินวงเงินซื้อขาย คือ การห้ามให้โบรกเกอร์ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี เพื่อป้องกันหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นค่ะ
  • การห้าม Net Settlement คือ การห้ามโบรกเกอร์หักกลบราคาซื้อกับราคาขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน ทำให้นักลงทุนจะได้รับเงินที่ขายหลักทรัพย์ในวันถัดไป หากมีการซื้อขายในวันเดียวกันค่ะ


ตัวอย่างเครื่องหมายหุ้นการกำกับการซื้อขาย

ตัวอย่างเครื่องหมายหุ้น

สรุปเครื่องหมายหุ้น

สรุปเครื่องหมายหุ้น คือ สัญลักษณ์ชุดหนึ่งที่ ก.ล.ต. ใช้เตือนนักลงทุนว่า หากมีการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ณ เวลานั้น ๆ จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างไรบ้าง เพื่อให้นักลงทุนทราบรายละเอียดที่อาจกระทบตัวเองได้อย่างง่ายผ่านกระดานซื้อขายค่ะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ทุกคนเคยเห็นเครื่องหมายหุ้นตัวไหนบ้าง แล้วเคยซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมายเหล่านี้กำกับบ้างหรือเปล่า? 

เครื่องหมายหุ้นถือเป็นคำเตือนที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนมาก ดังนั้น อย่าลืมสังเกตเครื่องหมายหุ้นก่อนทำการซื้อขาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกคนกันด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post