พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย
Table of Contents

เริ่มต้นปีใหม่แล้ว หลาย ๆ คนอาจกำลังวางแผนการลงทุน บ้างก็เพื่อแต่งงาน สร้างบ้าน ออมระยะยาว หรือแม้แต่เกษียณอายุ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลอะไร ทุกคนล้วนมีเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้แตกต่างกัน ดังนั้น คุณน้าจะมาแนะนำ 4 พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยกันค่ะ


ความสำคัญของการจัดพอร์ตการลงทุน

พอร์ตการลงทุนสำคัญอย่างไร ทำไมทุกคนถึงควรจัดพอร์ตการลงทุน? เหตุผลก็เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวนั้นมีความเสี่ยงที่มากเกินไปนั่นเองค่ะ ดังนั้น การแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังรองรับตลาดในแต่ละสภาวะ และเป็นการเซฟเงินในกระเป๋าของตัวเองด้วยค่ะ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการจัดพอร์ตรูปแบบหนึ่งจะเหมาะกับคนทุกช่วงวัยนะคะ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า คนในแต่ละวัยมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันค่ะ


พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

ขั้นตอนการจัดพอร์ตการลงทุน

1) กำหนดเป้าหมาย

อันดับแรกของการจัดพอร์ต เราต้องกำหนดเป้าหมายของพอร์ตนั้น ๆ ก่อนค่ะ เพราะถ้าเรารู้เป้าหมายที่แน่ชัด มันก็จะทำให้เราสามารถกำหนดทิศทางของพอร์ตได้ และอย่าลืมแยกพอร์ตการลงทุนตามเป้าหมายกันด้วยนะคะ

เช่น คุณน้าเปิดพอร์ต A เพื่อลงทุนระยะยาวสำหรับวัยเกษียณ สินทรัพย์ที่ลงทุนจะมีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ผลตอบแทนอาจไม่หวือหวาแต่มั่นคง ขณะที่พอร์ต B คุณน้าเปิดเพื่อซื้อบ้านใหม่ ต้องเก็บเงินให้ได้ภายใน 3-5 ปี คุณน้าก็ต้องเลือกสินทรัพย์เสี่ยงที่ทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างสูง เป็นต้นค่ะ

2) สำรวจตนเอง

นอกจากเราจะรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ทุกคนก็ควรรู้จักตัวเองเช่นกันค่ะ เพราะแต่ละคนมีทัศนคติ กลยุทธ์ ความอดทนต่อการขาดทุน ตลอดจนอายุ ฐานะการเงิน และภาระที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะรู้จักตัวเองก่อนค่ะ

เช่น วัยเริ่มทำงานที่ทั้งอายุน้อยและไม่มีภาระ สามารถรับความเสี่ยงได้สูง ขณะที่คนเริ่มมีอายุอย่างเรา ๆ ต้องกังวลกับหลายอย่างมากกว่า ความเสี่ยงที่รับได้ก็จะน้อยลงค่ะ

พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย
ตัวอย่างการจัดพอร์ต Asset Allocation ด้วยกลยุทธ์ Core & Satellite

3) จัดพอร์ตการลงทุน

เมื่อเราทราบเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของตัวเองแล้ว ก็มาเริ่มจัดพอร์ตกันค่ะ โดยพอร์ตที่เราเลือกควรเป็นแบบกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภทตามเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ค่ะ 

เช่น การจัดพอร์ต Asset Allocation ด้วยกลยุทธ์ Core & Satellite ซึ่งเป็นการลงทุนแบบแบ่งสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง หรือการจัดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงตามอายุ โดยอิงแนวคิดของ John Bogle ที่นำ 100 มาลบอายุปัจจุบันของเราก็ได้เช่นกันค่ะ ตัวอย่างคือ ถ้าคุณน้าอายุ 30 ปี ก็นำ 100 ลบด้วย 30 ผลลัพธ์เท่ากับ 70 นั่นหมายความว่า คุณน้าสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ 70% ของมูลค่าพอร์ต เป็นต้นค่ะ

4) ติดตามและปรับพอร์ตการลงทุน

หลังจากที่เราจัดพอร์ตไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจบและไม่ต้องติดตามแล้วนะคะ เพราะทุกสินทรัพย์มีวัฏจักรเป็นของตัวเอง มีช่วงขึ้นและลงที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ ทั้งการบริหารงานภายใน และปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการคาดเดา ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นติดตามสินทรัพย์ที่เราลงทุนอย่างสม่ำเสมอค่ะ

หากสินทรัพย์ตัวไหนที่เราลงทุนไปมีท่าทีไม่ดี ติดลบต่อเนื่อง เราก็อาจพิจารณาขายและซื้อตัวอื่นแทน เป็นต้นค่ะ


เทคนิคการจัดพอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

พอร์ตสำหรับวัยเริ่มต้นทำงาน ช่วงอายุ 20+

วัยเริ่มต้นทำงาน หรือ First Jobber คือ ช่วงวัยที่พร้อมรับความเสี่ยงมากที่สุด เพราะยังไม่ค่อยมีภาระมากนัก อีกทั้ง ระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้ก็ยังอีกยาวไกล จึงได้เปรียบในการออมและการลงทุนมากที่สุด 

ดังนั้น วัยนี้จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น คริปโตเคอร์เรนซี อสังหาริมทรัพย์ การแลกเปลี่ยนค่าเงิน และอื่น ๆ ได้ค่ะ เพราะระยะเวลาการลงทุนที่นานพอจะช่วยลดความผันผวนของสินทรัพย์เหล่านี้ลง และมีเวลาในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้นค่ะ

โดยอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่เหมาะสำหรับวัยนี้ คือ 90:10 หรือ 80:20 ตามความเหมาะสม และวิจารณญาณของผู้ลงทุนค่ะ ทั้งนี้ แม้ว่าวัยนี้จะสามารถรับความเสี่ยงได้สูง แต่ก็อย่าลืมแบ่งเงินเย็นไว้ใช้เผื่อฉุกเฉินกันด้วยนะคะ


พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

พอร์ตสำหรับวัยสร้างครอบครัว ช่วงอายุ 30+

เมื่ออายุมากขึ้น ความรับผิดชอบก็สูงขึ้นเช่นกัน เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว ต้องมีภาระทั้งค่าจัดงานแต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก เป็นต้น อีกทั้ง รายรับที่มากขึ้นก็ต้องมานั่งปวดหัวคำนวณการจ่ายภาษีและการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ นับว่าเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ค่ะ

ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เน้นกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท รวมถึงสินทรัพย์ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างกองทุน SSF และ RMF หรือแผนการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นต้นค่ะ โดยมีเป้าหมายการลงทุน คือ ระยะกลางถึงระยะยาว และได้รับผลตอบแทนแบบต่อเนื่อง

อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่เหมาะสำหรับวัยนี้ คือ 50:50 ตามความเหมาะสม และวิจารณญาณของผู้ลงทุนค่ะ


พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

พอร์ตสำหรับวัยชีวิตที่มั่นคง ช่วงอายุ 40+

เมื่อเติบโตขึ้นไปอีกขั้น ในวัยที่ชีวิตเริ่มมั่นคง มีทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ความเสี่ยงที่รับได้กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนะคะ เพราะภาระด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และครอบครัวที่อยู่ด้านหลังนั้นมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การใช้จ่ายเงินแต่ละครั้งจึงต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีค่ะ

ดังนั้น คนวัยนี้จึงสามารถรับความเสี่ยงได้ลดลง สินทรัพย์ที่เหมาะสมจึงต้องมีความเสี่ยงต่ำ เน้นการลงทุนระยะยาวที่มั่นคงและปลอดภัย ได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือแบ่งมาลงทุนในหุ้นระยะยาว เพื่อเพิ่มพูนเงินออมและเงินลงทุนให้มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีเวลาหารายได้เหลืออีกไม่กี่ปีค่ะ และนอกจากกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว อาจต้องมาดูเรื่องแผนการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยให้ครอบคลุมมากขึ้นค่ะ

อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่เหมาะสำหรับวัยนี้ คือ 30:70 ตามความเหมาะสม และวิจารณญาณของผู้ลงทุนค่ะ


พอร์ตไหนที่ใช่ Gen ไหนที่ชอบ กับ 4 พอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

พอร์ตสำหรับวัยเกษียณ ช่วงอายุ 50+

เมื่อเข้าสู่บั้นปลายของการทำงาน ชีวิตใกล้เกษียณ แม้จะมีรายได้มากขึ้น และอาจเป็นช่วงที่ทำรายได้ได้สูงที่สุด แต่แผนการเงินก็ยิ่งต้องรัดกุมมากขึ้นตามไปด้วยค่ะ เพราะความสามารถในการรับความเสี่ยงจะลดลงมาก และอีกไม่กี่ปีก็จะไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว

ดังนั้น ผู้ที่เข้าสู่วัยใกล้เกษียณจึงไม่ควรลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เน้นการลงทุนที่มั่นคง รักษาเงินต้นมากกว่าการสร้างผลตอบแทน เพราะในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ได้ด้วยเงินสะสมของตนเอง แม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะลดลง แต่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพค่ะ

อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่เหมาะสำหรับวัยนี้ คือ 10:90 ตามความเหมาะสม และวิจารณญาณของผู้ลงทุนค่ะ


สรุปรวม การจัดพอร์ตการลงทุนตามช่วงวัย

เราจะเห็นได้ว่า การจัดพอร์ตมีความสำคัญมากต่อแนวทางการลงทุน แต่พอร์ตการลงทุนแต่ละแบบก็เหมาะกับนักลงทุนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยค่ะ ดังนั้น ก่อนจะเริ่มลงทุน อย่าลืมจัดพอร์ตตามเป้าหมาย และหมั่นศึกษาหาความรู้ ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับบริหารความเสี่ยง และบริหารเงินในมือให้ดี เพียงเท่านี้ เราก็จะลดความเสี่ยงจากการขาดทุนได้เยอะเลยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : Set Invest Now 1, Set Invest Now 2, Set Invest Now 3

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post