วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน
Table of Contents

“ภาษี” เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องรู้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่จำเป็นต้องยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี แต่เชื่อหรือไม่คะว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่า ต้องวางแผนยื่นภาษีอย่างไร ทำให้พลาดโอกาสสำคัญอย่างการลดหย่อนภาษีไปค่ะ ดังนั้น คุณน้าจึงเลือกเขียนบทความเกี่ยวกับ “การวางแผนยื่นภาษีออนไลน์สำหรับวัยทำงาน” เพื่อประโยชน์ทั้งต่อคนที่เป็น First Jobber และผู้ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ค่ะ

ภาษีคืออะไร?

อันดับแรก เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ภาษี” คืออะไร? ซึ่งนิยามตามที่กรมสรรพากรกำหนด ภาษี (Tax) คือ เงินที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นรายได้นำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยถือเป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องนำส่งให้แก่ภาครัฐค่ะ

ภาษีสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่

  1. ภาษีทางตรง เป็นภาษีที่ไม่สามารถผลักภาระให้บุคคลอื่นแทนได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมรดก เป็นต้น
  2. ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่สามารถผลักภาระให้บุคคลอื่นแทนได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีศุลกากร เป็นต้น

หากมนุษย์เงินเดือนต้องยื่นภาษีจำเป็นต้องยื่น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งเป็นภาษีทางตรงที่ต้องจ่ายเองเท่านั้นค่ะ

ยื่นภาษีช่วงไหน?

โดยปกติแล้ว ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการยื่นภาษีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปีค่ะ และหากเป็นช่องทางออนไลน์จะสามารถยื่นภาษีได้ถึงต้นเดือนเมษายน โดยทุกคนสามารถยื่นภาษีได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ๆ คือ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!
  • ดำเนินการด้วยเอกสารผ่านสำนักสรรพากรพื้นที่ หรือส่งไปรษณีย์ไปยังกองบริหารการคลังและรายได้ของกรมสรรพากร
  • ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

สำหรับคุณน้า ขอแนะนำว่า ให้ยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์จะสะดวกที่สุดค่ะ เพราะสามารถอัปโหลดเอกสารต่าง ๆ ทั้งใบทวิ 50 และเอกสารลดหย่อนภาษีได้ผ่านรูปแบบไฟล์ ไม่จำเป็นต้องปริ้นท์เอกสารเพื่อนำส่งให้ยุ่งยาก และไม่เสี่ยงทำให้เอกสารหายอีกด้วยค่ะ!

ทำไมต้องยื่นและเสียภาษี?

เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะคะว่า “ยื่นภาษี” ไม่เท่ากับ “เสียภาษี” เพราะการยื่นภาษีเป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องยื่นอยู่แล้ว และไม่ใช่ทุกคนที่ยื่นภาษีแล้วจะต้องเสียภาษีค่ะ เพราะการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้นที่ต้องจ่าย

หากไม่ต้องเสียภาษีแล้วยังจำเป็นต้องยื่นภาษีอยู่หรือไม่? คุณน้าขอตอบว่า “จำเป็นค่ะ” เพราะถือเป็นการแสดงหลักฐานรายได้และการทำธุรกรรม ทำให้ไม่โดนตรวจสอบ เรียกเก็บ และเสี่ยงต่อการโดนปรับย้อนหลังนั่นเองค่ะ

ส่วนทำไมต้องเสียภาษี? คำตอบก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงต้นเลยค่ะว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยที่จะต้องนำส่งให้รัฐ หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเด็ดขาดค่ะ

ถ้าไม่ยื่นหรือเสียภาษีจะเกิดอะไรขึ้น?

หากมีรายได้แต่ไม่ได้ยื่นภาษี คุณอาจจะโดนบทลงโทษตามระดับความร้ายแรงดังต่อไปนี้ค่ะ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!
  1. กรณีไม่จ่ายภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5 % ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย
  2. กรณีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่จ่ายภาษีไม่ครบ ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มและเสียเบี้ยปรับอีก 1-2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย
  3. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนด ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  4. กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ หรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท
  5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากโทษในข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเสียอีกอย่าง คือ คุณอาจจะพลาดเงินคืนที่บริษัทหรือนายจ้างหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายค่ะ

รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี?

สำหรับมนุษย์เงินเดือนต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะต้องเสียภาษี? คำตอบคือ มีเงินได้สุทธิเกิน 150,001 บาทขึ้นไป โดยเสียตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่บังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2560 ดังต่อไปนี้ค่ะ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!

ส่วนคนที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพียงแต่ต้องยื่นภาษีเพื่อนำส่งเป็นหลักฐานในการตรวจสอบเท่านั้นค่ะ

การวางแผนภาษีคืออะไร?

การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อทำให้เราสามารถคาดการณ์การเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ทำให้เรารู้ว่า เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ หากมากเกินไปก็จะได้หาแผนรับมือเพื่อลดหย่อนภาษีได้นั่นเองค่ะ

การวางแผนยื่นภาษีออนไลน์เบื้องต้นสำหรับมนุษย์เงินเดือน

หากคุณต้องการวางแผนภาษี สามารถเริ่มต้นได้ดังนี้ค่ะ

1. ทราบประเภทเงินได้ของตัวเอง 

อันดับแรก คุณจำเป็นต้องทราบประเภทเงินได้ของตัวเอง ซึ่งประกอบไปด้วย 8 กลุ่ม ดังนี้ค่ะ

  • เงินได้ประเภทที่ 1 เช่น เงินเดือน, ค่าจ้าง และโบนัส เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 2 เช่น ค่าคอมมิชชัน และเบี้ยประชุม เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 3 เช่น ค่าลิขสิทธิ์ และค่ากู๊ดวิลล์ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 4 เช่น ดอกเบี้ย, เงินปันผล และส่วนแบ่งกำไรจากการขายหน่วยลงทุนหรือ Cryptocurrency เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 5 เช่น ค่าเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งบ้าน ที่ดิน หรือยานพาหนะ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 6 เช่น ค่าวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์
  • เงินได้ประเภทที่ 7 เช่น ค่ารับเหมาก่อสร้าง
  • เงินได้ประเภทที่ 8 เช่น การค้าขายต่าง ๆ, อุตสาหกรรม, ประมง และเหมืองแร่ เป็นต้น

ข้อควรรู้ คือ หากคุณเป็นพนักงานที่มีรายได้จากการจ้างงานประเภทเดียว ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ก็จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 แต่หากคุณมีรายได้จากช่องทางอื่นด้วย เช่น การลงทุน ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ก็ต้องเปลี่ยนมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แทนค่ะ


2. ทราบสิทธิลดหย่อนภาษี

ในการคำนวณภาษี จะมีค่าลดหย่อนหลัก ๆ อยู่แล้ว คือ ค่าใช้จ่ายที่กรมสรรพากรกำหนดให้หักได้ร้อยละ 50 สูงสุด 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท แต่นอกจาก 2 รายการนี้แล้ว ทุกคนยังสามารถเข้าร่วมรายการลดหย่อนอื่น ๆ ได้ดังนี้ค่ะ

  • สิทธิลดหย่อนขั้นพื้นฐานของชีวิต เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร, ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ และโครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการออมและลงทุน เช่น กองทุนประกันสังคม, ประกันชีวิต และกองทุนรวมประเภท SSF และ RMF เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลหรือสนับสนุนการศึกษา

ซึ่งสิทธิประโยชน์ในข้างต้นนี้ นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังสามารถให้คุณประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งการได้รับสินค้า, หน่วยลงทุน หรือแม้แต่กรมธรรม์คุ้มครอง เป็นต้นค่ะ


3. ทราบวิธีคำนวณภาษี

นอกจากจะต้องทราบประเภทเงินได้และสิทธิในการลดหย่อนภาษีแล้ว คุณยังจำเป็นต้องทราบวิธีคำนวณด้วย ซึ่งการคำนวณภาษีต้องคำนวณในอัตราแบบขั้นบันได ดังนี้ค่ะ


เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

  • เงินได้ คือ รายได้ทั้งหมดที่ได้รับตลอดทั้งปีปฏิทิน
  • เงินได้สุทธิ คือ เงินได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • ค่าใช้จ่าย คือ กรมสรรพากรกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายจากเงินได้มาตรา 40 (1) และ 40 (2) ได้ร้อยละ 50 สูงสุด 100,000 บาท
  • ค่าลดหย่อน คือ รายการลดหย่อนต่าง ๆ ที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว, คู่สมรส, บุตร, ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา และค่าอุปการะผู้พิการ เป็นต้น

จากนั้น นำเงินได้สุทธิมาคำนวณอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันได ดังนี้ค่ะ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!

ตัวอย่างเช่น คุณน้ามีรายได้ทั้งปีเป็นจำนวนเงิน 480,000 บาท ซึ่งคุณน้าสามารถลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 50% สูงสุด 100,000 บาท, ลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท และลดหย่อนค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปี ได้คนละ 30,000 บาท ดังนั้น เงินได้สุทธิของคุณน้าจึงสามารถคำนวณได้ดังนี้ค่ะ

480,000 (เงินได้) – 100,000 (ค่าใช้จ่าย) – [60,000 + (30,000×2)] (ค่าลดหย่อน)

สุดท้าย เงินได้สุทธิของคุณน้าจะเท่ากับ 260,000 บาท แสดงว่า คุณน้าต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ซึ่งเท่ากับ 5,500 บาท เป็นต้นค่ะ

ทำไมต้องวางแผนภาษี?

การวางแผนภาษีจะทำให้เราทราบว่า เราต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งจากตัวอย่างในการคำนวณภาษีข้างต้นจะเห็นว่า หากคุณน้าไม่มีค่าลดหย่อนในการเลี้ยงดูพ่อแม่เลย คุณน้าอาจจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% เพราะมีรายได้เกิน 300,001 บาท หรือก็คือ 320,000 บาท ซึ่งหากคำนวณแล้วจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงิน 9,500 บาทค่ะ ทุกคนเห็นความต่างของตัวเลขกันหรือยังคะ? 

ดังนั้น คุณน้าจึงอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษี เพราะหากเราทราบว่าตัวเองต้องเสียภาษีเท่าไหร่ก็จะสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้ต่อไป ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น อีกทั้ง ยังได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วยค่ะ

สรุปการวางแผนยื่นภาษีออนไลน์

ชาวไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนซึ่งเป็นวัยทำงานจะต้องเสียภาษีเงินได้ โดยหากมีการวางแผนภาษีเข้ามาช่วยก็จะทำให้ทุกคนทราบกระบวนการในการคำนวณภาษีและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนต่าง ๆ ทำให้เราไม่เสียผลประโยชน์ และยังประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2, กรมสรรพากร 3, กรุงเทพธุรกิจ, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, PPTV, iTAX

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
Moving Average คืออะไร? Indicator ตัวดังของเหล่าเทรดเดอร์สายเทคนิค
Moving Average คืออะไร? Indicator ตัวดังของเหล่าเทรดเดอร์สายเทคนิค ห้ามพลาด!

ในวันนี้คุณน้าพาเทรดจะพาทุกคนมารู้จักกับอินดิเคเตอร์พื้นฐานที่ได้รับความนิยมจากเทรดเดอร์เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ Moving Average (MA)

วิเคราะห์ราคาทองคำ
คุณน้าพาเทรดทอง : วิเคราะห์ทองคำวันที่ 9 พฤษภาคม 2567

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 กันค่า

แนวต้าน : 2,320 / 2,325 / 2,345
แนวรับ : 2,307 / 2,290 / 2,275

วิเคราะห์ราคาทองคำ
คุณน้าพาเทรดทอง : วิเคราะห์ทองคำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2567 กันค่า

แนวต้าน : 2,325 / 2,335 / 2,350
แนวรับ : 2,310 / 2,295 / 2,280