Credit Default Swap (CDS) คืออะไร? ลงทุนตราสารหนี้ต้องรู้!

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
Table of Contents

Credit Default Swap หรือ CDS เป็นตลาดขนาดเล็กที่ยังมีคนรู้จักไม่มากนัก แต่มีความสำคัญกับนักลงทุนตราสารหนี้เป็นอย่างมากค่ะ มันคืออะไร สำคัญอย่างไร นักลงทุนทั่วไปต้องรู้หรือไม่? คุณน้าจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเครื่องมือทางการเงินชนิดนี้กันค่ะว่า มันช่วยให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกลงทุนได้แบบมืออาชีพได้อย่างไร!

CDS (Credit Default Swap) คืออะไร? 

CDS ย่อมาจาก Credit Default Swap คือ ตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันการผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ขายสัญญาชดเชยเงินให้แก่ผู้ซื้อสัญญา เมื่อผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระเงินหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ส่งผลกระทบแก่ผู้ซื้อสัญญาค่ะ หากพูดง่าย ๆ เจ้า CDS ก็ทำหน้าที่เหมือน “บริษัทประกันภัย” นั่นเองค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?

ในการทำธุรกรรมครั้งนี้จะมี 3 ตัวละครหลัก คือ

  1. ผู้ขายสัญญา
  2. ผู้ซื้อสัญญา (มีสถานะเป็นผู้ซื้อตราสารหนี้ หรือเจ้าหนี้)
  3. ผู้ออกตราสารหนี้ (มีสถานะเป็นลูกหนี้)

โดยลำดับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มีดังนี้ค่ะ

  • ผู้ซื้อตราสารหนี้ (เจ้าหนี้) ซื้อตราสารหนี้จาก ผู้ออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) เพื่อลงทุนและเก็งกำไร
  • ผู้ซื้อตราสารหนี้ (เจ้าหนี้) ซื้อสัญญา CDS เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระจาก ผู้ขายสัญญา โดยยินยอมจ่ายผลตอบแทนให้จำนวนหนึ่งตลอดอายุสัญญา ไม่ว่าตราสารนั้นจะเกิดการผิดนัดชำระหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม
  • หาก ผู้ออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) ผิดนัดชำระหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ขายสัญญา จะต้องจ่ายเงินให้แก่ ผู้ซื้อสัญญา (เจ้าหนี้) ตามที่ตกลงไว้ค่ะ

CDS (Credit Default Swap) มีกี่ประเภท?

โดยทั่วไป CDS จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ

  1. Single-credit CDS เป็นการรับประกันรายการเดียว เช่น บริษัท, ธนาคาร หรือหน่วยงานของรัฐแบบเฉพาะเจาะจงเพียงรายเดียวเท่านั้น
  2. Multi-credit CDS เป็นการรับประกันหลายรายการแบบพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
  3. CDS Index เป็นดัชนีอ้างอิงที่มีอายุตั้งแต่ 1-10 ปี

กรณีที่ CDS (Credit Default Swap) ให้ความคุ้มครอง

ผู้ขายสัญญาจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ซื้อสัญญาตามที่ตกลงไว้ หากผู้ออกตราสารหนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลาย
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้พักชำระหนี้
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้เลื่อน/ ปฏิเสธ/ ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือชำระเงินต้นได้
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปในทิศทางลบ
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ถูกเร่งรัดหนี้สินผูกพัน

ค่าใช้จ่ายในการซื้อ CDS (Credit Default Swap)

CDS จะมีผลคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้ซื้อสัญญาจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ขายสัญญา แต่เงินส่วนนี้คิดเท่าไหร่ และอิงจากอะไรกันนะ? อันดับแรก เรามาทำความรู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับการซื้อขายสัญญา CDS กันก่อนค่ะ

  • Premium Leg คือ ผลตอบแทนที่ผู้ขายสัญญาจะได้รับจากผู้ซื้อสัญญา เพื่อแลกกับความคุ้มครอง หรือเรียกว่า “เบี้ยประกัน” นั่นเองค่ะ
  • Protection Leg คือ ค่าชดชดเชยที่ผู้ซื้อสัญญาจะได้รับจากผู้ขายสัญญา เมื่อผู้ออกตราสารหนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในทางลบ
  • CDS Spread คือ ตัวชี้วัดในการจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ขายสัญญา

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?

จากข้างต้น เราจะเห็นว่า CDS Spread มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเบี้ยประกัน (Premium Leg) ที่ผู้ขายสัญญาจะได้รับ ซึ่งค่า CDS Spread จะสูงหรือต่ำนั้นวัดได้จากเครดิตหรือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้นั้น ๆ ค่ะ

  • หากค่า CDS Spread สูง ก็แสดงว่า ผู้ขายสัญญาต้องใช้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสัญญาต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง
  • หากค่า CDS Spread ต่ำ ก็แสดงว่า ผู้ขายสัญญาต้องใช้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ต่ำลง ทำให้ผู้ซื้อสัญญาจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกลง

นอกจากค่า CDS Spread จะเป็นตัวกำหนดเบี้ยประกัน (Premium Leg) แล้ว ยังสะท้อนถึงเครดิตของตราสารหนี้นั้น ๆ ด้วย ดังนั้น นักลงทุนจำนวนมากจึงใช้ค่า CDS Spread เพื่อประเมินโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะ CDS Spread มีการเปลี่ยนแปลงแบบรายวัน เร็วกว่าอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือค่ะ

ตัวอย่างค่า CDS Spread ของประเทศต่าง ๆ 

จากการที่ค่า CDS Spread มักถูกใช้เพื่อประเมินโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น นักลงทุนจำนวนมากจึงติดตามค่า CDS Spread ก่อนทำการลงทุน ซึ่งคุณน้าก็ได้หาค่า CDS Spread ที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดของประเทศต่าง ๆ มาให้ทุกคนได้ดูเป็นตัวอย่างดังรูปด้านล่าง หรือทุกคนจะติดตาม CDS Rates จาก Investing.com ก็ได้เช่นกันค่ะ

ตัวอย่างค่า CDS Spread ของประเทศต่าง ๆ 
ค่า CDS Spread ที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดของประเทศต่าง ๆ
ที่มารูปภาพจาก สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI)

ตัวอย่างค่า CDS Spread ของประเทศต่าง ๆ 
ค่า CDS Spread เรียงตามภูมิภาค
ที่มารูปภาพจาก สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI)

ตัวอย่างบริษัทผู้ขาย CDS (Credit Default Swap)

CDS ซื้อที่ไหน? จากการสืบค้นข้อมูลของคุณน้า ผู้ขาย CDS ส่วนมากมักจะเป็นธนาคาร หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งตัวอย่างบริษัทผู้ขาย CDS ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น

  1. JPMorgan Chase ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและโลก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ปี 2023 อีกทั้ง ยังเป็นผู้พัฒนาสัญญา CDS ให้เป็นเครื่องมือทางการเงิน
  2. Deutsche Bank ธนาคารเพื่อการลงทุนและสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
Blythe Masters อดีตผู้บริหาร JPMorgan Chase ผู้พัฒนา Credit Default Swap

ทำไมนักลงทุนต้องสนใจ CDS (Credit Default Swap)?

เหตุผลที่นักลงทุนควรให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของ CDS เป็นเพราะเหตุผลเหล่านี้ค่ะ

  1. เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง 

CDS ใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะการลงทุนในตราสารหนี้จำเป็นต้องใช้เงินและเวลาค่อนข้างมาก เปรียบเหมือนการปล่อยกู้ให้แก่บริษัทและรัฐบาล ดังนั้น หากมีหน่วยงานเข้ามารับประกันความเสี่ยงก็จะทำให้ผู้ลงทุนในตราสารหนี้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นค่ะ

  1. บ่งบอกเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ 

CDS Spread ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ หรือความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น ในช่วงเดือนพฤษาคม 2023 ที่ค่า CDS Spread อายุ 5 ปี ของอเมริกามีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นต้นค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
ที่มารูปภาพจาก Federal Reserve Bank of Chicago

  1. สัญญาณสะท้อนความกังวลของนักลงทุน

นอกจากนี้ ค่า CDS Spread ยังถูกใช้เป็นสัญญาณที่สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อกลุ่มอุตสาหกรรม, กลุ่มธุรกิจ หรือเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง ๆ ด้วย ดังเช่นในข่าวปัญหาเพดานหนี้ของอเมริกาที่ทำให้มุมมองของนักลงทุนต่อตลาดการเงินของอเมริกาเป็นไปในทิศทางลบ และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอื่น ๆ ในท้ายที่สุด เพราะค่า CDS Spread มีการปรับตัวสูงกว่าปี 2011 ที่มีการลดเครดิตของอเมริกาจากปัญหาเดียวกันนั่นเองค่ะ

  1. เก็งกำไร

นักลงทุนจำนวนหนึ่งใช้สัญญา CDS ที่อ้างอิงกับบริษัทหนึ่ง ๆ เพื่อเก็งกำไรหรือการพนันว่า ผู้ออกตราสารหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งบางครั้งก็เกิดการประมูลราคาเพื่อซื้อขายสัญญา CDS อีกทั้ง ยังมีนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่งใช้กลยุทธ์ Arbitrage เพื่อเก็งกำไรจากช่องว่างของราคาสินทรัพย์ระหว่างตลาดด้วยค่ะ

ความเสี่ยงจาก CDS (Credit Default Swap) มีอะไรบ้าง?

ในการซื้อสัญญา CDS ผู้ซื้อจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ความเสี่ยงจากผู้ขายสัญญา

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ขาย CDS เปรียบเหมือนบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ดังนั้น หากเกิดวิกฤตที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ผู้ขายก็อาจจะไม่สามารถแบกรับความเสียหายทั้งหมดไว้ได้ เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเลยก็คือ บริษัทล้มละลายหรือเบี้ยวไม่จ่ายเงินชดเชย ดังนั้น การเลือกผู้ให้บริการ CDS จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
ที่มารูปภาพ Ivypanda

ตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต เช่น วิกฤตซับไพรม์หรือแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เร่งเร้าสถานการณ์ให้เลวร้ายกว่าเดิม คือ CDO ที่มาอุดรอยรั่วการกู้ยืมครั้งนี้ เพราะต้องการเก็งกำไรจากผู้กู้ในระดับซับไพรม์ จนเกิดเป็นวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั่นเองค่ะ

หลักการของ CDO มีความคล้ายคลึงกับ CDS เป็นอย่างมาก ดังนั้น บทเรียนที่ผ่านมาจึงสอนให้นักลงทุนพึงระวังผู้ให้บริการ CDS ที่ประกันความเสี่ยงในผู้ออกตราสารที่เครดิตไม่ดี จนทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นค่ะ

2. ความเสี่ยงจากกระบวนการซื้อขาย

นอกจากนี้ CDS ยังมีความเสี่ยงอีกประการที่ผู้ซื้อไม่ควรมองข้าม คือ กระบวนการซื้อขายสัญญา ซึ่งเป็นแบบการตกลงซื้อขายกันแบบส่วนตัว (OTC) ไม่เป็นทางการนัก ทำให้ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานในการควบคุมดูแลกฎเกณฑ์การซื้อขายค่ะ ดังนั้น ผู้ซื้อสัญญาจึงต้องพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านด้วยตนเองก่อนทำสัญญาใด ๆ ค่ะ

ข้อดีและข้อเสียของ CDS (Credit Default Swap)

โดยรวมแล้ว CDS มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้ค่ะ

ข้อดี

  • เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อสัญญา (ผู้ซื้อตราสารหนี้)
  • ใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงและสะท้อนมุมมองของนักลงทุนได้ดี
  • เข้าถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อโดยจำกัดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
  • ลงทุนในสินเชื่อต่างประเทศโดยไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
  • สภาพคล่องในบางครั้งอาจมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ถูกใช้เพื่อเก็งกำไร

ข้อเสีย

  • กับดักในการลงทุน ทำให้นักลงทุนและผู้ซื้อสัญญารู้สึกปลอดภัยจนชะล่าใจ
  • แม้ CDS จะลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อสัญญา แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งจากการซื้อขายในตลาด OTC และจากการเบี้ยวของผู้ขายสัญญา
  • หากผู้ขายสัญญา CDS รับประกันความเสี่ยงในผู้ออกตราสารที่เครดิตไม่ดี ก็จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มตามไปด้วยเช่นกันค่ะ

สรุป Credit Default Swap (CDS)

หากจะให้คุณน้าสรุปง่าย ๆ CDS ก็คือบริษัทประกันภัยสำหรับผู้ลงทุนตราสารหนี้ ทำให้ความเสี่ยงในการให้กู้ลดลง หากผู้กู้ผิดนัดชำระหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ นั่นเองค่ะ แต่อย่างไรก็ดี ทุกคนก็ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านก่อนใช้บริการ CDS เพราะอาจเจอผู้ขายสัญญาที่ไม่ดี ทำให้ความเสี่ยงของเราเพิ่มขึ้นได้ค่ะ 

นอกจากการประกันความเสี่ยงแล้ว CDS ก็ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ สำหรับนักลงทุนทั่วไปด้วย ซึ่งก็คือการใช้ CDS Spread ในการดูเครดิตของผู้กู้หรือประเทศผู้กู้ อีกทั้ง ยังสะท้อนมุมมองนักลงทุนต่อตลาดนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น CDS จึงถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากหากใช้อย่างระมัดระวัง 

คุณน้าหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ เพราะบทความเกี่ยวกับ CDS มีน้อยมากในประเทศไทย คิดว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน, SCB Economic Intelligence Center, PIMCO, Investopedia, Money Buffalo

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
Moving Average คืออะไร? Indicator ตัวดังของเหล่าเทรดเดอร์สายเทคนิค
Moving Average คืออะไร? Indicator ตัวดังของเหล่าเทรดเดอร์สายเทคนิค ห้ามพลาด!

ในวันนี้คุณน้าพาเทรดจะพาทุกคนมารู้จักกับอินดิเคเตอร์พื้นฐานที่ได้รับความนิยมจากเทรดเดอร์เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ Moving Average (MA)

วิเคราะห์ราคาทองคำ
คุณน้าพาเทรดทอง : วิเคราะห์ทองคำวันที่ 9 พฤษภาคม 2567

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 กันค่า

แนวต้าน : 2,320 / 2,325 / 2,345
แนวรับ : 2,307 / 2,290 / 2,275