Credit Default Swap (CDS) คืออะไร? ลงทุนตราสารหนี้ต้องรู้!

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
Table of Contents

Credit Default Swap หรือ CDS เป็นตลาดขนาดเล็กที่ยังมีคนรู้จักไม่มากนัก แต่มีความสำคัญกับนักลงทุนตราสารหนี้เป็นอย่างมากค่ะ มันคืออะไร สำคัญอย่างไร นักลงทุนทั่วไปต้องรู้หรือไม่? คุณน้าจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเครื่องมือทางการเงินชนิดนี้กันค่ะว่า มันช่วยให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกลงทุนได้แบบมืออาชีพได้อย่างไร!

CDS (Credit Default Swap) คืออะไร? 

CDS ย่อมาจาก Credit Default Swap คือ ตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันการผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ขายสัญญาชดเชยเงินให้แก่ผู้ซื้อสัญญา เมื่อผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระเงินหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ส่งผลกระทบแก่ผู้ซื้อสัญญาค่ะ หากพูดง่าย ๆ เจ้า CDS ก็ทำหน้าที่เหมือน “บริษัทประกันภัย” นั่นเองค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?

ในการทำธุรกรรมครั้งนี้จะมี 3 ตัวละครหลัก คือ

  1. ผู้ขายสัญญา
  2. ผู้ซื้อสัญญา (มีสถานะเป็นผู้ซื้อตราสารหนี้ หรือเจ้าหนี้)
  3. ผู้ออกตราสารหนี้ (มีสถานะเป็นลูกหนี้)

โดยลำดับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มีดังนี้ค่ะ

  • ผู้ซื้อตราสารหนี้ (เจ้าหนี้) ซื้อตราสารหนี้จาก ผู้ออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) เพื่อลงทุนและเก็งกำไร
  • ผู้ซื้อตราสารหนี้ (เจ้าหนี้) ซื้อสัญญา CDS เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระจาก ผู้ขายสัญญา โดยยินยอมจ่ายผลตอบแทนให้จำนวนหนึ่งตลอดอายุสัญญา ไม่ว่าตราสารนั้นจะเกิดการผิดนัดชำระหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม
  • หาก ผู้ออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) ผิดนัดชำระหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ขายสัญญา จะต้องจ่ายเงินให้แก่ ผู้ซื้อสัญญา (เจ้าหนี้) ตามที่ตกลงไว้ค่ะ

CDS (Credit Default Swap) มีกี่ประเภท?

โดยทั่วไป CDS จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ

  1. Single-credit CDS เป็นการรับประกันรายการเดียว เช่น บริษัท, ธนาคาร หรือหน่วยงานของรัฐแบบเฉพาะเจาะจงเพียงรายเดียวเท่านั้น
  2. Multi-credit CDS เป็นการรับประกันหลายรายการแบบพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
  3. CDS Index เป็นดัชนีอ้างอิงที่มีอายุตั้งแต่ 1-10 ปี

กรณีที่ CDS (Credit Default Swap) ให้ความคุ้มครอง

ผู้ขายสัญญาจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ซื้อสัญญาตามที่ตกลงไว้ หากผู้ออกตราสารหนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลาย
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้พักชำระหนี้
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้เลื่อน/ ปฏิเสธ/ ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือชำระเงินต้นได้
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปในทิศทางลบ
  • กรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ถูกเร่งรัดหนี้สินผูกพัน

ค่าใช้จ่ายในการซื้อ CDS (Credit Default Swap)

CDS จะมีผลคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้ซื้อสัญญาจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ขายสัญญา แต่เงินส่วนนี้คิดเท่าไหร่ และอิงจากอะไรกันนะ? อันดับแรก เรามาทำความรู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับการซื้อขายสัญญา CDS กันก่อนค่ะ

  • Premium Leg คือ ผลตอบแทนที่ผู้ขายสัญญาจะได้รับจากผู้ซื้อสัญญา เพื่อแลกกับความคุ้มครอง หรือเรียกว่า “เบี้ยประกัน” นั่นเองค่ะ
  • Protection Leg คือ ค่าชดชดเชยที่ผู้ซื้อสัญญาจะได้รับจากผู้ขายสัญญา เมื่อผู้ออกตราสารหนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในทางลบ
  • CDS Spread คือ ตัวชี้วัดในการจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ขายสัญญา

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?

จากข้างต้น เราจะเห็นว่า CDS Spread มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเบี้ยประกัน (Premium Leg) ที่ผู้ขายสัญญาจะได้รับ ซึ่งค่า CDS Spread จะสูงหรือต่ำนั้นวัดได้จากเครดิตหรือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้นั้น ๆ ค่ะ

  • หากค่า CDS Spread สูง ก็แสดงว่า ผู้ขายสัญญาต้องใช้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสัญญาต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง
  • หากค่า CDS Spread ต่ำ ก็แสดงว่า ผู้ขายสัญญาต้องใช้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ต่ำลง ทำให้ผู้ซื้อสัญญาจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกลง

นอกจากค่า CDS Spread จะเป็นตัวกำหนดเบี้ยประกัน (Premium Leg) แล้ว ยังสะท้อนถึงเครดิตของตราสารหนี้นั้น ๆ ด้วย ดังนั้น นักลงทุนจำนวนมากจึงใช้ค่า CDS Spread เพื่อประเมินโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะ CDS Spread มีการเปลี่ยนแปลงแบบรายวัน เร็วกว่าอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือค่ะ

ตัวอย่างค่า CDS Spread ของประเทศต่าง ๆ 

จากการที่ค่า CDS Spread มักถูกใช้เพื่อประเมินโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น นักลงทุนจำนวนมากจึงติดตามค่า CDS Spread ก่อนทำการลงทุน ซึ่งคุณน้าก็ได้หาค่า CDS Spread ที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดของประเทศต่าง ๆ มาให้ทุกคนได้ดูเป็นตัวอย่างดังรูปด้านล่าง หรือทุกคนจะติดตาม CDS Rates จาก Investing.com ก็ได้เช่นกันค่ะ

ตัวอย่างค่า CDS Spread ของประเทศต่าง ๆ 
ค่า CDS Spread ที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดของประเทศต่าง ๆ
ที่มารูปภาพจาก สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI)

ตัวอย่างค่า CDS Spread ของประเทศต่าง ๆ 
ค่า CDS Spread เรียงตามภูมิภาค
ที่มารูปภาพจาก สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI)

ตัวอย่างบริษัทผู้ขาย CDS (Credit Default Swap)

CDS ซื้อที่ไหน? จากการสืบค้นข้อมูลของคุณน้า ผู้ขาย CDS ส่วนมากมักจะเป็นธนาคาร หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งตัวอย่างบริษัทผู้ขาย CDS ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น

  1. JPMorgan Chase ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและโลก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ปี 2023 อีกทั้ง ยังเป็นผู้พัฒนาสัญญา CDS ให้เป็นเครื่องมือทางการเงิน
  2. Deutsche Bank ธนาคารเพื่อการลงทุนและสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
Blythe Masters อดีตผู้บริหาร JPMorgan Chase ผู้พัฒนา Credit Default Swap

ทำไมนักลงทุนต้องสนใจ CDS (Credit Default Swap)?

เหตุผลที่นักลงทุนควรให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของ CDS เป็นเพราะเหตุผลเหล่านี้ค่ะ

  1. เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง 

CDS ใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะการลงทุนในตราสารหนี้จำเป็นต้องใช้เงินและเวลาค่อนข้างมาก เปรียบเหมือนการปล่อยกู้ให้แก่บริษัทและรัฐบาล ดังนั้น หากมีหน่วยงานเข้ามารับประกันความเสี่ยงก็จะทำให้ผู้ลงทุนในตราสารหนี้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นค่ะ

  1. บ่งบอกเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ 

CDS Spread ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ หรือความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น ในช่วงเดือนพฤษาคม 2023 ที่ค่า CDS Spread อายุ 5 ปี ของอเมริกามีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นต้นค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
ที่มารูปภาพจาก Federal Reserve Bank of Chicago

  1. สัญญาณสะท้อนความกังวลของนักลงทุน

นอกจากนี้ ค่า CDS Spread ยังถูกใช้เป็นสัญญาณที่สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อกลุ่มอุตสาหกรรม, กลุ่มธุรกิจ หรือเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง ๆ ด้วย ดังเช่นในข่าวปัญหาเพดานหนี้ของอเมริกาที่ทำให้มุมมองของนักลงทุนต่อตลาดการเงินของอเมริกาเป็นไปในทิศทางลบ และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอื่น ๆ ในท้ายที่สุด เพราะค่า CDS Spread มีการปรับตัวสูงกว่าปี 2011 ที่มีการลดเครดิตของอเมริกาจากปัญหาเดียวกันนั่นเองค่ะ

  1. เก็งกำไร

นักลงทุนจำนวนหนึ่งใช้สัญญา CDS ที่อ้างอิงกับบริษัทหนึ่ง ๆ เพื่อเก็งกำไรหรือการพนันว่า ผู้ออกตราสารหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งบางครั้งก็เกิดการประมูลราคาเพื่อซื้อขายสัญญา CDS อีกทั้ง ยังมีนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่งใช้กลยุทธ์ Arbitrage เพื่อเก็งกำไรจากช่องว่างของราคาสินทรัพย์ระหว่างตลาดด้วยค่ะ

ความเสี่ยงจาก CDS (Credit Default Swap) มีอะไรบ้าง?

ในการซื้อสัญญา CDS ผู้ซื้อจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ความเสี่ยงจากผู้ขายสัญญา

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ขาย CDS เปรียบเหมือนบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ดังนั้น หากเกิดวิกฤตที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ผู้ขายก็อาจจะไม่สามารถแบกรับความเสียหายทั้งหมดไว้ได้ เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเลยก็คือ บริษัทล้มละลายหรือเบี้ยวไม่จ่ายเงินชดเชย ดังนั้น การเลือกผู้ให้บริการ CDS จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากค่ะ

Credit Default Swap (CDS) คืออะไร?
ที่มารูปภาพ Ivypanda

ตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต เช่น วิกฤตซับไพรม์หรือแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เร่งเร้าสถานการณ์ให้เลวร้ายกว่าเดิม คือ CDO ที่มาอุดรอยรั่วการกู้ยืมครั้งนี้ เพราะต้องการเก็งกำไรจากผู้กู้ในระดับซับไพรม์ จนเกิดเป็นวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั่นเองค่ะ

หลักการของ CDO มีความคล้ายคลึงกับ CDS เป็นอย่างมาก ดังนั้น บทเรียนที่ผ่านมาจึงสอนให้นักลงทุนพึงระวังผู้ให้บริการ CDS ที่ประกันความเสี่ยงในผู้ออกตราสารที่เครดิตไม่ดี จนทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นค่ะ

2. ความเสี่ยงจากกระบวนการซื้อขาย

นอกจากนี้ CDS ยังมีความเสี่ยงอีกประการที่ผู้ซื้อไม่ควรมองข้าม คือ กระบวนการซื้อขายสัญญา ซึ่งเป็นแบบการตกลงซื้อขายกันแบบส่วนตัว (OTC) ไม่เป็นทางการนัก ทำให้ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานในการควบคุมดูแลกฎเกณฑ์การซื้อขายค่ะ ดังนั้น ผู้ซื้อสัญญาจึงต้องพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านด้วยตนเองก่อนทำสัญญาใด ๆ ค่ะ

ข้อดีและข้อเสียของ CDS (Credit Default Swap)

โดยรวมแล้ว CDS มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้ค่ะ

ข้อดี

  • เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อสัญญา (ผู้ซื้อตราสารหนี้)
  • ใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงและสะท้อนมุมมองของนักลงทุนได้ดี
  • เข้าถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อโดยจำกัดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
  • ลงทุนในสินเชื่อต่างประเทศโดยไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
  • สภาพคล่องในบางครั้งอาจมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ถูกใช้เพื่อเก็งกำไร

ข้อเสีย

  • กับดักในการลงทุน ทำให้นักลงทุนและผู้ซื้อสัญญารู้สึกปลอดภัยจนชะล่าใจ
  • แม้ CDS จะลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อสัญญา แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งจากการซื้อขายในตลาด OTC และจากการเบี้ยวของผู้ขายสัญญา
  • หากผู้ขายสัญญา CDS รับประกันความเสี่ยงในผู้ออกตราสารที่เครดิตไม่ดี ก็จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มตามไปด้วยเช่นกันค่ะ

สรุป Credit Default Swap (CDS)

หากจะให้คุณน้าสรุปง่าย ๆ CDS ก็คือบริษัทประกันภัยสำหรับผู้ลงทุนตราสารหนี้ ทำให้ความเสี่ยงในการให้กู้ลดลง หากผู้กู้ผิดนัดชำระหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ นั่นเองค่ะ แต่อย่างไรก็ดี ทุกคนก็ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านก่อนใช้บริการ CDS เพราะอาจเจอผู้ขายสัญญาที่ไม่ดี ทำให้ความเสี่ยงของเราเพิ่มขึ้นได้ค่ะ 

นอกจากการประกันความเสี่ยงแล้ว CDS ก็ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ สำหรับนักลงทุนทั่วไปด้วย ซึ่งก็คือการใช้ CDS Spread ในการดูเครดิตของผู้กู้หรือประเทศผู้กู้ อีกทั้ง ยังสะท้อนมุมมองนักลงทุนต่อตลาดนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น CDS จึงถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากหากใช้อย่างระมัดระวัง 

คุณน้าหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ เพราะบทความเกี่ยวกับ CDS มีน้อยมากในประเทศไทย คิดว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน, SCB Economic Intelligence Center, PIMCO, Investopedia, Money Buffalo

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
Ichimoku Cloud คืออะไร? อินดิเคเตอร์ก้อนเมฆสารพัดประโยชน์
Ichimoku Cloud คืออะไร? อินดิเคเตอร์ก้อนเมฆสารพัดประโยชน์ กับเคล็ดลับการเทรดที่คุณควรรู้!

นวันนี้คุณน้าพาเทรดจะพาทุกคนมารู้จักกับอีกหนึ่งอินดิเคเตอร์สารพัดประโยชน์ที่สามารถครบจบในตัวเอง อย่าง Ichimoku Cloud

ส่องเทรนด์ Pop Mart คืออะไร ลงทุนหุ้นของเล่น Art toy น่าสนใจปี 2024
ส่องเทรนด์ Pop Mart คืออะไร ลงทุนหุ้นของเล่น Art toy น่าสนใจปี 2024

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “กล่องสุ่ม” “Art toy” หรือ “Pop Mart” กระแสที่กำลังในประเทศไทย วันนี้คุณน้าจะพาทุกคนไปรู้จักกับเทรนด์กล่องสุ่มของ Pop Mart ค่ะ

กองทุน Thai ESG ทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน ซื้อกองไหนดี? ปี 2024
กองทุน Thai ESG ทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน ซื้อกองไหนดี? ผลตอบแทนสูง ปี 2024

คุณน้าพาเทรดจะพาทุกคนมารู้จักกับกองทุน Thai ESG ทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน ซื้อกองไหนดี? เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับกองทุนประเภทนี้ดียิ่งขึ้น