ภ.ง.ด.90 / 91 / 94 คืออะไร ต้องยื่นอันไหน ต่างกันอย่างไร ?

ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91/ ภ.ง.ด. 94 คืออะไร
Table of Contents

สิ้นปีใกล้มาถึงแล้ว ต้นปีหน้าก็เป็นช่วงยื่นภาษี แต่ยังไม่รู้เลยว่า ต้องทำยังไงและต้องยื่นแบบไหน?! หลังจากคุณน้าได้แนะนำการวางแผนการยื่นภาษีออนไลน์และการวางแผนลดหย่อนภาษีไปแล้วในบทความก่อนหน้า ในบทความนี้ คุณน้าจะพามาดูแบบที่ใช้ยื่นภาษี หรือ ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91/ ภ.ง.ด. 94 กันค่ะว่า แต่ละตัวหมายถึงอะไร, ต่างกันอย่างไร รวมถึงเราต้องยื่นแบบไหนกันนะ? ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลยค่า

ภ.ง.ด. คืออะไร ?

ภ.ง.ด. ย่อมาจาก “ภาษีเงินได้” คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาค่ะ นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีเงินได้พึงประเมินสุทธิเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะต้องแสดงรายได้โดยใช้แบบฟอร์มดังกล่าวนี้ต่อสรรพากร ซึ่ง ภ.ง.ด. จะมี 5 รูปแบบ ได้แก่

  • ภ.ง.ด.90 – มีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท
  • ภ.ง.ด.91 – มีเฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1
  • ภ.ง.ด.93 – มีเงินได้ขอชำระภาษีล่วงหน้า
  • ภ.ง.ด.94 – มีเฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 – 8
  • ภ.ง.ด.95 – คนต่างด้าวที่มีเงินได้จากการจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

แต่ในบทความนี้ คุณน้าจะพาไปทำความรู้จัก ภ.ง.ด.90, 91 และ 94 เท่านั้นค่ะ เพราะถือเป็นรายได้หลักของคนส่วนมากค่ะ

ใครต้องยื่น ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91/ ภ.ง.ด. 94 ?

ในการยื่นภาษีเงินได้แต่ละประเภท เราจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับการพิจารณาว่า เงินได้นั้นเข้าข่ายเงินได้ประเภทไหนค่ะ

  • บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • บุคคลที่เป็นสามีภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
  • ทรัพย์สินมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่งมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • บุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • วิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือ 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

ภ.ง.ด.90 คืออะไร ?
ตัวอย่าง ภ.ง.ด.90
ภ.ง.ด.91 คืออะไร ?
ตัวอย่าง ภ.ง.ด.91
ภ.ง.ด.94 คืออะไร ?
ตัวอย่าง ภ.ง.ด.94

ประเภทเงินได้พึงประเมิน

หากต้องการรู้ว่า เราต้องยื่น ภ.ง.ด. ไหน อันดับแรก คุณน้าจะพาไปทบทวนประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ที่มีทั้งหมด 8 ประเภท กันก่อนค่ะ

  • เงินได้ประเภทที่ 1 เช่น เงินเดือน, ค่าจ้าง และโบนัส เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 2 เช่น ค่าคอมมิชชัน และเบี้ยประชุม เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 3 เช่น ค่าลิขสิทธิ์ และค่ากู๊ดวิลล์ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 4 เช่น ดอกเบี้ย, เงินปันผล และส่วนแบ่งกำไรจากการขายหน่วยลงทุนหรือ Cryptocurrency เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 5 เช่น ค่าเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งบ้าน ที่ดิน หรือยานพาหนะ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 6 เช่น ค่าวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์
  • เงินได้ประเภทที่ 7 เช่น ค่ารับเหมาก่อสร้าง
  • เงินได้ประเภทที่ 8 เช่น การค้าขายต่าง ๆ, อุตสาหกรรม, ประมง และเหมืองแร่ เป็นต้น

ภ.ง.ด.90 คืออะไร ?

ภ.ง.ด.90 คืออะไร ?

ภ.ง.ด.90 คือ ฟอร์มสำหรับแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีเงินได้จากหลายช่องทางหรือช่องทางเดียว ซึ่งเงินได้นั้นจะต้องอยู่ในประเภทที่ 1 – 8 ค่ะ เช่น 

  • คุณน้ามีเงินได้จากหลายช่องทาง ทั้งเงินเดือนและส่วนแบ่งกำไรจากการขายหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 และ 4 ดังนั้น คุณน้าก็จะต้องยื่น ภ.ง.ด.90 ค่ะ
  • คุณน้ามีเงินได้จากช่องทางเดียว คือ ค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 3 ดังนั้น คุณน้าก็จะต้องยื่น ภ.ง.ด.90 เช่นกันค่ะ

ใครต้องยื่น ภ.ง.ด.90 ?

ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 – 8 เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในปีภาษีนั้น ๆ ค่ะ

ภ.ง.ด.90 ยื่นเมื่อไหร่ ?

โดยปกติแล้ว ผู้ที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.90 จะยื่นภาษีในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของปีถัดไปทุกปีค่ะ

ถ้าไม่ยื่น ภ.ง.ด.90 เสียค่าปรับเท่าไหร่ ?

หลายคนอาจมองว่า การเสียภาษีไม่สำคัญ ดังนั้น จึงเลี่ยงที่จะเสียภาษี แต่ทราบหรือไม่คะว่า หากไม่ได้ยื่นภาษีจะถือว่า เราทำผิดกฎหมายและจะโดนค่าปรับ ดังนี้ค่ะ

  1. หากไม่ได้ยื่น ภ.ง.ด.90 หรือยื่นเกินกว่าเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ค่ะ
  2. หากยื่น ภ.ง.ด.90 แล้ว แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษี จะถือว่าไม่ได้ยื่น ดังนั้น จะต้องนำเงินส่วนดังกล่าวไปชำระ และเสียค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1 ค่ะ
  3. หากยื่น ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติมในภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ กรณีมีเงินภาษีต้องชำระจะต้องเสียค่าปรับตามข้อ 2 แต่หากไม่มีเงินภาษีที่ต้องชำระก็จะไม่ต้องเสียเงินค่าปรับค่ะ

ภ.ง.ด.91 คืออะไร ?

ภ.ง.ด.91 คืออะไร ?

ภ.ง.ด.91 คือ ฟอร์มสำหรับแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีเงินได้จากช่องทางเดียว ซึ่งเงินได้นั้นจะต้องอยู่ในประเภทที่ 1 (เงินเดือน, ค่าจ้าง และโบนัส เป็นต้น) เท่านั้นค่ะ

ใครต้องยื่น ภ.ง.ด.91 ?

ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในปีภาษีนั้น ๆ ค่ะ

ภ.ง.ด.91 ยื่นเมื่อไหร่ ?

โดยปกติแล้ว ผู้ที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.91 จะยื่นภาษีในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของปีถัดไปทุกปีค่ะ

ถ้าไม่ยื่น ภ.ง.ด.91 เสียค่าปรับเท่าไหร่ ?

หากไม่ยื่น ภ.ง.ด.91 จะเสียค่าปรับเหมือนกับ ภ.ง.ด.90 คือ

  • หากไม่ได้ยื่น ภ.ง.ด.91 หรือยื่นเกินกว่าเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ค่ะ
  • หากยื่น ภ.ง.ด.91 แล้ว แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษี จะถือว่าไม่ได้ยื่น ดังนั้น จะต้องนำเงินส่วนดังกล่าวไปชำระ และเสียค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1 ค่ะ
  • หากยื่น ภ.ง.ด.91 เพิ่มเติมในภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ กรณีมีเงินภาษีต้องชำระจะต้องเสียค่าปรับตามข้อ 2 แต่หากไม่มีเงินภาษีที่ต้องชำระก็จะไม่ต้องเสียเงินค่าปรับค่ะ

ภ.ง.ด.94 คืออะไร ?

ภ.ง.ด.94 คืออะไร ?

ภ.ง.ด.94 คือ ฟอร์มสำหรับแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 คือ รายได้ไม่คงที่ ได้แก่ รายได้จากค่าเช่า, รายได้ค่านายหน้า, รายได้ค่ารับเหมา และรายได้จากการค้าขาย ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนค่ะ ตัวอย่างเช่น

  • ผู้ที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์
  • ผู้ที่ค้าขายออนไลน์

ใครต้องยื่น ภ.ง.ด.94 ?

ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5, 6, 7 หรือ 8 ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่คงที่ และเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในปีภาษีนั้น ๆ ค่ะ

ภ.ง.ด.94 ยื่นเมื่อไหร่ ?

โดยปกติแล้ว ผู้ที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 จะยื่นภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายนของปีภาษีเดียวกันทุกปีค่ะ ดังนั้น บางครั้งเราจึงเรียกภาษีชนิดนี้ว่า “ภาษีกลางปี”

ถ้าไม่ยื่น ภ.ง.ด.94 เสียค่าปรับเท่าไหร่ ?

หากไม่ยื่น ภ.ง.ด.94 จะเสียค่าปรับเหมือนกับ ภ.ง.ด.90 คือ

  • หากไม่ได้ยื่น ภ.ง.ด.94 หรือยื่นเกินกว่าเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ค่ะ

สรุป ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91/ ภ.ง.ด. 94 ต่างกันอย่างไร ?

หลังจากอ่านมาทั้งหมดแล้ว คุณน้าเชื่อว่า ทุกคนน่าจะเห็นภาพของเงินได้แต่ละประเภทได้ชัดเจนมากขึ้น แต่คุณน้าขอสรุปความแตกต่างของ ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91/ ภ.ง.ด. 94 ให้อีกรอบนะคะ นั่นคือ ทั้งหมดล้วนเป็นแบบที่ใช้ยื่นแสดงรายได้ของบุคคลธรรมดา แตกต่างกันเพียงช่องทางรายได้เท่านั้น ดังนั้น หากทุกคนรู้ว่า รายได้ของตัวเองมาจากไหนและเป็นเงินได้ประเภทใด ก็อย่าลืมยื่นแบบที่ถูกต้องกันด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2 และ กรมสรรพากร 3

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post