T-Pop จะดัน Soft Power Token ไทยให้รอดหรือร่วง?

Tpop จะดัน Soft Power Token ไทยให้รอดหรือร่วง?
Table of Contents

เมื่อกระแส T-Pop กำลังกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในอุตสาหกรรมไทย ทำให้รัฐบาลไทยกำลังผลักดัน T-Pop ให้กลายเป็น Soft Power เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน Soft Power Token ให้มากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะพาทุกคนมาเจาะลึกถึงความหมายที่แท้จริงของ Soft Power Token คืออะไร โดยโอกาสและความท้าทายของการลงทุนลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ!

*หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงบทความให้ความรู้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการชักชวนเพื่อลงทุนแต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

การผลักดันกระแส Soft Power Token ไทยเป็นอย่างไร?

ดูเหมือนว่าในปี 2025 นี้ รัฐบาลไทยกำลังพยายามผลักดันกระแส Soft Power อย่างจริงจังค่ะ ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่คุณน้ามองว่าน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ก็คือ Soft Power Token ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะค่ายเพลงและค่ายหนังนั่นเองค่ะ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแส T-Pop ไทยกำลังรันวงการมาก ๆ ค่ะ เพราะหันไปทางไหนก็เห็น T-Pop ไทยอยู่เต็มไปหมดตั้งแต่โฆษณาบนทีวีไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน 

ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงศักยภาพของศิลปินไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดสากลอย่างมั่นคง


Soft Power Token คืออะไร?

Soft Power Token คือ การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (Shelf Filing) เพื่อส่งเสริมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้กับนักลงทุนทั่วไป (ICO) จากการส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นดนตรี, ภาพยนตร์, ละคร ตลอดจนวงการศิลปะให้ออกมาในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล (Digital Token) นั่นเองค่ะ สำหรับ Soft Power Token เป็น Investment Token* รูปแบบใหม่ที่ก.ล.ต. ให้การกำกับดูแลค่ะ

รายละเอียดสำคัญของ Soft Power Token มีอะไรบ้าง?

1. อนุญาตให้มีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิงในลักษณะเดียวกันหรือมีโครงการในทำนองเดียวกันได้ 

2. สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้หลายครั้งและไม่จำกัดมูลค่าภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

3. การยื่นคำขออนุญาตแบบ Filing, การชำระค่าธรรมเนียม และข้อกำหนดเกี่ยวกับ ICO ต้องเป็นไปตามที่ ก.ล.ต. กำหนด

4. เน้นอุตสาหกรรมในกลุ่ม Soft Power ไม่ว่าจะเป็นดนตรี, ภาพยนตร์, ละคร ตลอดจนวงการศิลปะ

5. กรณีเสนอขาย Investment Token ให้ยื่นคำขออนุญาตแยกจาก Utility Token ยกเว้น Investment Token ที่เสนอขายนั้นจะให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ เช่น การเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อพัฒนาผลงานเพลง ผู้ถือโทเคนดิจิทัลสามารถได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการขายเพลง หรือได้สิทธิในการเข้าร่วม Meet and Greet กับศิลปินได้

6. ก.ล.ต. เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2024 เป็นต้นไป

Investment Token* คืออะไร?

Investment Token คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ให้สิทธิกับผู้ร่วมลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการต่าง ๆ โดยผลตอบแทนอาจจะมาในรูปแบบของรายได้, กำไร หรือสิทธิประโยชน์ เป็นต้น ทั้งนี้ การเสนอขาย Investment Token ให้กับประชาชนทั่วไป (ICO) ต้องได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต. เท่านั้นค่ะ

Investment Token มีอะไรบ้าง?

ในปัจจุบัน Investment Token แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้

1. Project based ICO : 

เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัล เพื่อดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจ เช่น ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ซึ่งผลตอบแทนจะมาในรูปแบบของส่วนแบ่งของรายได้

2. Real Estate-backed ICO : 

เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิง 3 ประเภท ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. หุ้นไม่น้อยกว่า 75% ของนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ และ 3. สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ อสังหาริมทรัพย์อ้างอิงจะต้องสร้างเสร็จ 100% และมีมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 80% ของโครงการ หรือ 500 ล้านบาท สำหรับผลตอบแทนของ Real Estate-backed ICO จะมาในรูปแบบของส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

3. Infra-backed ICO

เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า, โรงประปา หรือระบบขนส่ง เป็นต้น ซึ่งจะต้องเป็นโครงสร้างที่สร้างเสร็จ 100% หรือกำลังดำเนินการที่สร้างเสร็จไปแล้ว 70% ของโครงการ

4. Debt-Linked Token

เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนไว้ชัดเจน โดยต้องมีผู้เชี่ยวชาญอิสระประเมินความน่าเชื่อถือของโครงการ ซึ่งต้องเปิดเผยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาด้วย

5. Sustainability-themed token

เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เช่น โครงการปลูกป่า เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

6. Soft Power Token (ICO Shelf Filing)

เป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ลงทุนในอุตสาหกรรม Soft Power เช่น อุตสาหกรรมหนัง, ศิลปะ, ละคร ตลอดจนแอนิเมชัน


รวมกระแส T-Pop ดัน Soft Power ไทยให้โกอินเตอร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแส T-Pop หรือ Thai Popular Music กำลังแทรกซึมชีวิตประจำวันของเราได้อย่างแนบเนียนค่ะ เพราะคุณน้ามองว่า T-Pop ไม่ใช่แค่การนำเสนอด้านใดด้านหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่ T-Pop ได้ผสมผสานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม, ความคิด และความสร้างสรรค์เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ซึ่งกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานเพลงอันมีเอกลักษณ์ จนสามารถมัดใจผู้ฟังทั้งไทยและต่างประเทศได้อยู่หมัดค่ะ 

ดังนั้น คุณน้าได้รวบรวม 5 กระแสความฟีเวอร์ของ T-Pop ซึ่งทำให้กระแสเพลงไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยมีหลายละเอียด ดังนี้

1. ความหลากหลายและความสดใหม่ของ New Gen T-Pop กำลังเบ่งบาน

หลังจาก Covid-19 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าวงการเพลงไทยบ้านเรากำลังยกระดับไปอีกขั้นหนึ่งค่ะ เนื่องจากช่วง Covid-19 เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผู้คนเริ่มโหยหาความสุนทรีมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ได้เริ่มปล่อยของได้อย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนจากค่ายเพลงเกิดใหม่มากมาย ซึ่งผู้ทำงานเบื้องหลังก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นศิลปินรุ่นพี่ในวงการเพลงไทยที่เริ่มผันตัวมาทำงานเบื้องหลังมากยิ่งขึ้น โดยได้นำประสบการณ์ของตนเองมาต่อยอดเกิดเป็นไอเดียที่มีเอกลักษณ์ และมีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้ฟังสามารถเลือกฟังเพลงที่เหมาะกับตนเองได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังนำเสนอทั้งเสื้อผ้าหน้าผมที่เรียกได้ว่า เป๊ะปังตั้งแต่หัวจรดเท้า ประกอบกับงานวิดีโอที่ทุ่มทุนสร้าง ทั้งการครีเอตเอกลักษณ์ไทยให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เกิด New Gen ในวงการ T-Pop มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Girl Group 7 สาว 7 สไตล์ 4EVE หรือวง Boy Band 4MIX วง LGBTQ+ วงแรกของไทย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความหลากหลายของศิลปินในวงการ T-Pop ได้อย่างชัดเจนค่ะ

“Proxie (รูปซ้าย)และ MXFRUIT (รูปขวา)”

2. เนื้อเพลงติดหู ท่าเต้นติดใจ

อีกหนึ่งความฟีเวอร์ที่ทำให้ T-Pop สามารถมัดใจผู้ฟังได้อยู่หมัด ก็คือ เนื้อเพลงติดหูและท่าเต้นติดใจ ประกอบกับมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ TikTok ที่ช่วยซัพพอร์ตให้ท่าเต้นของ T-Pop กลับมาฮอตฮิตอีกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันวง T-Pop ได้นำเสนอท่าเต้นที่จดจำง่ายและมีการโปรโมตเพลงด้วยการเชิญชวนให้ทำ Challenge บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำให้ผู้ฟังสามารถร่วมสนุกได้มากขึ้น

3. การเกิดพื้นที่แสดงศักยภาพเรื่องร้องรำทำเพลง

เคยสงสัยเหมือนคุณน้าไหมคะว่า ประเทศไทยถือเป็นดินแดนแห่งเสียงเพลงที่แท้จริง เพราะมีรายการเพลงหรือพื้นที่ให้แสดงความสามารถเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเรื่องร้องรำทำเพลงต้องยกนิ้วให้คนไทยเลยค่ะ

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแสของวงการ T-Pop ในบ้านเราเริ่มเบ่งบานขึ้นทีละนิด เพราะมีรายการเพลงหรือพื้นที่ให้แสดงศักยภาพได้เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น T-Pop Stage Show ของเวิร์คพอยท์ รายการที่สนับสนุนให้ศิลปินมีพื้นที่ในการโปรโมตผลงานเพลง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ T-Pop ไทยบุกตลาดระดับโลก โดยการมอบถ้วยรางวัลสำหรับเพลงหรือศิลปินที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละสัปดาห์ ทำให้กลุ่มแฟนคลับได้มีส่วนร่วมในการโหวตศิลปินที่ตนเองชื่นชอบได้อีกด้วย

นอกจากรายการเพลงแล้ว ในปัจจุบันยังมีรายการ Survival ที่เฟ้นหาดาวดวงใหม่ของวงการ T-Pop ยกตัวอย่างเช่น รายการ 789 Survival ของย้ง ทรงยศ ที่ได้สร้าง Boy Band หนุ่มหน้าใสที่เป็นผู้ชนะรายการทั้งหมด 12 คน อย่างวง BUS (Because of You, I Shine) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการแจ้งเกิดในวงการ T-Pop ได้อย่างสวยงาม

รายการ T-Pop Stage จากช่องเวิร์คพอยท์

“รายการ T-Pop Stage จากช่องเวิร์คพอยท์ ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21:45 น.”

4. Music Streaming กำลังมาแรง

และอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเปิดประตูความสำเร็จของวงการ T-Pop ก็คือ Music Streaming นั่นเองค่ะ ในปัจจุบัน Music Streaming ได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Apple Music, Spotify หรือ JOOQ เป็นต้น เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่สะดวกสบาย อีกทั้งราคายังจับต้องได้ เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยตัวเล็กได้ถูกค้นพบมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ยังส่องแสงสว่างไปถึงผู้ฟังในต่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่าน Music Streaming เหล่านี้ค่ะ

5. การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น

การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มอย่างชัดเจน สำหรับการผลักดัน T-Pop ให้เป็น Soft Power ออกสู่สายตาโลก โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) หรือหน่วยงานหลักของรัฐในการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี องค์กรที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมดนตรีไทยให้เติบโตไปข้างหน้า


H2 ย้อนรอยผลงานของศิลปินไทยในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล

ก่อนที่รัฐบาลไทยจะสนับสนุน Soft Power Token อย่างจริงจังในช่วง 2 ปีมานี้ ศิลปินไทยหลาย ๆ คน ก็เคยสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลมาแล้วค่ะ ซึ่งคุณน้าจะขอย้อนรอยผลงานที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

NFT Art

NFT Art เป็นผลงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นและขายในรูปแบบของ Token ที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ เพราะ NFT มีลักษณะเฉพาะตัวสูง ไม่สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงได้ อีกทั้งยังมีชิ้นเดียวในโลก ซึ่งจะเป็นการตรึงผลงานศิลปะลงไปบน Token ดังนั้น การได้ถือครอง NFT Art ก็เหมือนเราเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกนั่นเอง ซึ่งเราสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มพูนในภายภาคหน้าได้ค่ะ

ปัจจุบัน NFT Art ไม่ได้ทำการซื้อขายเฉพาะงานศิลปะเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวงการอื่น ๆ เช่น วงการกีฬา, ดนตรี, ของสะสม, วิดีโอสั้น หรือเกม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งาน NFT ในไทยนั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้มีศิลปินไทยหลายคนก้าวเข้ามาวงการ NFT มากยิ่งขึ้นค่ะ

ตัวอย่าง NFT Art ของศิลปินไทยที่ผ่านมา

  • วงดนตรี Mirrr เจ้าของผลงานมิวสิควิดีโอเพลง Ninja
  • Iputsa (พุทรา ณหทัย เนาถาวร) เจ้าของผลงาน The Invitation
  • Youngohm (ยังโอม) เจ้าของผลงาน YOUNGOHM MOTHER F**KER!!!
  • wawawawin (ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล) เจ้าของผลงาน The Incredible Doge
  • The Duang (วีระชัย ดวงพลา) เจ้าของผลงาน Gangster All Star

“NFT Art ผลงาน The Incredible Doge ของ wawawawin (ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล)”


ไขข้อสงสัยทุกเรื่องเกี่ยวกับ Token ที่ควรรู้แบบละเอียด

Digital Token คืออะไร?

Digital Token หรือโทเคนดิจิทัล คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคน

Digital Token มีอะไรบ้าง?

Digital Token สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. Investment Token คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่มาในรูปแบบของรายได้, กำไร หรือสิทธิประโยชน์ และ 2. Utility Token คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในการบริการหรือการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสด

Digital Token ไม่เท่ากับ Cryptocurrency?

Digital Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกับ Cryptocurrency แต่จะแตกต่างกันคือ Digital Token ไม่ได้มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าเหมือนกับ Cryptocurrency แต่ Digital Token เป็นสิทธิหรือผลตอบแทนที่สามารถถูกกำหนดรูปแบบได้หลากหลาย โดยให้ผลตอบแทนเสมือนกับการถือครองหุ้นบนตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งยังมีสินทรัพย์ในโลกจริงรับรอง

ยกตัวอย่างเช่น RealX Token โทเคนดิจิทัลที่เสนอขายอสังหาริมทรัพย์อ้างอิง อย่างคอนโดในเครือ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ย่านใจกลางกรุงเทพที่สร้างคอนโดใน 3 ทำเลทอง ได้แก่ พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ, พาร์ค ออริจิ้น พญาไท และพาร์ค ออริจิ้น พร้อมพงศ์ โดยผลตอบแทนของ RealX Token จะมาในรูปแบบผลตอบแทนรายไตรมาสจากค่าเช่าสุทธิของคอนโด ทั้ง 3 โครงการเป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากเริ่มต้นโครงการ และผลตอบแทนรายไตรมาสจากการทยอยขายคอนโดทั้ง 3 ทำเล ในปีที่ 6-10 ทั้งนี้ ผลตอบแทนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยง

ดังนั้น ราคาของ Digital Token จะมีความผันผวนต่ำกว่า Cryptocurrency นั่นเอง ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของประเภท Digital Token เช่นกันค่ะ


สรุปโอกาสและความท้าทายของ Soft Power Token ในอนาคต

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าเทรนด์ Tokenization จากการผลักดัน Soft Power กำลังเป็นที่น่าจับตามองในไทย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนมีตัวเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของ Soft Power Token ก็คือ การสนับสนุนของภาครัฐในระยะยาว โดยภาครัฐบาลจะมีการปรับนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้สอดคล้องกับทิศทางของการลงทุนโลกหรือไม่ เพราะ Token ก็ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดรอง หากนักลงทุนต้องการจะซื้อขายในระยะสั้น รวมถึง นักลงทุนไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Digital Token อีกด้วยค่ะ

นอกจากนี้ การแข่งขันที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นของวงการ T-Pop จะทำให้การสนับสนุนในระยะยาวเดินทางไปถึงทางตันหรือไม่ ทั้งความเหนียวแน่นของแฟนด้อม (กลุ่มแฟนคลับ), การพัฒนาของระบบค่ายเพลง หรือแม้แต่การสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งคุณน้ามองว่าถือเป็นโจทย์สำคัญที่นักลงทุนควรจับตามองในอนาคตค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : SEC, SET, PPTV, Bitkub และ ประชาชาติธุรกิจ


สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

Picture of khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
บทวิเคราะห์ทองคำ วันที่ 16 พฤษภาคม 2025
บทวิเคราะห์ทองคำ วันที่ 16 พฤษภาคม 2025

ในบทวิเคราะห์นี้ จะศึกษาภาพรวมปัจจัยพื้นฐานและภาพรวมทางเทคนิคของราคาทองคํา จะมีจุดน่าเข้าซื้อหรือน่าขายจุดไหนบ้าง? บทวิเคราะห์ราคาทองคําวันนี้มีคําตอบ!

วิเคราะห์ GBPUSD ดูแนวโน้มราคาล่าสุด วันที่ 16 พฤษภาคม 2025
วิเคราะห์ GBPUSD ดูแนวโน้มราคาล่าสุด วันที่ 16 พฤษภาคม 2025

พบกับวิเคราะห์ GBPUSD ที่สายเทรดสั้นห้ามพลาด การวิเคราะห์คู่เงิน Forex ดูแนวโน้มราคาล่าสุด สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค

Tpop จะดัน Soft Power Token ไทยให้รอดหรือร่วง?
T-Pop จะดัน Soft Power Token ไทยให้รอดหรือร่วง?

ในบทความนี้จะพาทุกคนมาเจาะลึกถึงความหมายที่แท้จริงของ Soft Power Token คืออะไร มีโอกาสและความท้าทายของการลงทุนลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ!

บทวิเคราะห์คู่เงิน EURUSD 15 พฤษภาคม 2025
บทวิเคราะห์คู่เงิน EURUSD วันที่ 15 พฤษภาคม 2025

พบกับวิเคราะห์ EURUSD ที่สายเทรดสั้นห้ามพลาด การวิเคราะห์คู่เงิน Forex ดูแนวโน้มราคาล่าสุด สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค

[elfsight_cookie_consent id="1"]

ทางเว็บไซต์ คุณน้าพาเทรด
ได้มีการใช้คุกกี้เพื่อช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้เว็บไซต์ของเราดียิ่งขึ้น


Privacy Policy