G-Token คืออะไร? พันธบัตรดิจิทัลใหม่แกะกล่องของรัฐบาลไทย

G-Token คืออะไร? พันธบัตรดิจิทัลใหม่แกะกล่องของรัฐบาลไทย
Table of Contents

รัฐบาลไทยเตรียมเปิดตัว G-Token หรือ Government Token ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนผ่านระบบดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น นี่ถือเป็นโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลเป็นครั้งแรก เรียกได้ว่าเป็นการแปลงโฉมนวัตกรรมทางการเงินไทยขึ้นไปอีกระดับค่ะ ในบทความนี้ คุณน้าจะพาทุกคนมาเจาะลึกทุกเรื่องเกี่ยวกับ G-Token ว่าคืออะไร? เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุน ทั้งโอกาสและความท้าทายที่นักลงทุนต้องเผชิญในภายภาคหน้า ห้ามพลาดบทความนี้ค่ะ!

*หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงบทความให้ความรู้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการชักชวนเพื่อลงทุนแต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

G-Token คืออะไร?

G-Token คืออะไร?

G-Token หรือ Government Token คือ พันธบัตรรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญที่คล้ายกับตราสารหนี้ อย่างพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล โดยผู้ถือ G-Token จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของการชำระเงินต้นคืนพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ 

สำหรับ G-Token จะไม่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้นะคะ เพราะเป็นการนำตราสารหนี้มาแปลงโฉมใหม่ให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล (Digital Token) บนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง อย่าง Blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกระจายการลงทุนนั่นเอง

G-Token ไม่ใช่เงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency แบบที่สามารถใช้จ่ายแลกเปลี่ยนสินค้าในร้านค้าหรือบริการทั่วไปได้ อีกทั้งยังไม่เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพราะเป็นเพียงเครื่องมือในการระดมทุนเท่านั้น”

รายละเอียดสำคัญของ G-Token มีอะไรบ้าง?

  1. สามารถซื้อ G-Token ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) หรือผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต. รวมถึง แอปพลิเคชันของบริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ
  2. ข้อมูลการเป็นเจ้าของและการทำรายการจะถูกบันทึกลงบน Blockchain ซึ่งมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
  3. รัฐบาลจะเป็นผู้ค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ตลอดอายุการลงทุน
  4. การให้ผลตอบแทนจะดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป 
  5. เป็นการลงทุนระยะสั้นประมาณ 1-3 ปี
  6. สามารถลงทุนได้ทั้งนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย 
  7. เริ่มต้นลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่สูงมากนัก

รู้หรือไม่ G-Token ได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานใด?

G-Token ได้รับการกำกับดูแลตามกฎหมาย พ.ร.บ. การบริหารหนี้สินสาธารณะ และ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี ก.ล.ต. ให้การกำกับดูแล ซึ่งทำงานร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินค่ะ โดย G-Token ถูกจัดอยู่ในรูปแบบการลงทุน Investment Token หรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เช่นเดียวกันกับ RealX Token นั่นเอง


5 เหตุผลสำคัญในการออก G-Token ของรัฐบาลไทย

1. เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

โดยปกติแล้ว การซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนใช่ไหมคะ แต่ G-Token จะเป็นทางเลือกการลงทุนใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการซื้อขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย, มีความสะดวกสบาย อีกทั้งยังเริ่มต้นลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่สูงมากนัก

2. ลดขั้นตอนการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

เนื่องจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิมค่อนข้างมีต้นทุนสูง ดังนั้น การลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ซึ่งทำให้ช่วยลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็ว เพราะลดขั้นตอนที่ซับซ้อนลงค่ะ

3. การทำธุรกรรมมีความรวดเร็ว

โดยทั่วไปแล้ว การซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์แบบเดิมจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการหลายวัน แต่การซื้อขาย G-Token สามารถทำได้แบบเรียลไทม์ค่ะ ทำให้ผู้ถือครอง G-Token สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

4. ความปลอดภัย สามารถตรวจสอบได้

อย่างที่เราทราบกันดีว่า เทคโนโลยีบน Blockchain มีความปลอดภัยสูง เพราะข้อมูลและการทำธุรกรรมจะถูกกระจายไปยัง Node หลายจุดในเครือข่าย ซึ่งทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ระบบจะสร้าง Block ใหม่ที่เชื่อมต่อกับ Block ก่อนหน้าไปเรื่อย ๆ ค่ะ และเมื่อข้อมูลเข้าสู่ Block แล้วก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะหากจะแก้ไขต้องได้รับฉันทามติจาก Node จำนวนมากในเครือข่ายก่อน 

ดังนั้น การซื้อขาย G-Token จึงเหมือนกับสมุดบัญชีดิจิทัลที่เราสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม และที่สำคัญ ก็คือ ยากต่อการดัดแปลงข้อมูลนั่นเอง

5. การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

G-Token เป็นทางเลือกในการลงทุนรูปแบบใหม่ที่รัฐบาลเล็งเห็นว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางทางการเงินดิจิทัลในภูมิภาค อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักลงทุนไทยรุ่นใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงโทเคนดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเหมือนกับการส่งเสริมการออมเงินและกระจายการลงทุนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) นั่นเองค่ะ

นอกจาก G-Token แล้ว รัฐบาลยังให้การสนับสนุนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน สำหรับการผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ไทย อย่างการสนับสนุน T-Pop อีกด้วยค่ะ


เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง G-Token และพันธบัตรรัฐบาล

คุณน้าขอเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง G-Token และพันธบัตรรัฐบาล ทั้งหมด 5 ลักษณะสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ความหมายของ G-Token และพันธบัตรออมทรัพย์

G-Token
(โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน
)

Saving Bond
(พันธบัตรออมทรัพย์)

โทเคนดิจิทัลที่การถือครองและการทำธุรกรรมทั้งหมดจะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมีวงเงินเสนอขาย 5,000 ล้านบาท

ความหมาย

พันธบัตรออมทรัพย์จะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร หรือระบบไร้ใบหลักทรัพย์* ที่บันทึกผ่านตัวกลางทางการเงิน ซึ่งมีวงเงินเสนอขาย 30,000-40,000 ล้านบาท

เกร็ดความรู้ : ระบบไร้ใบหลักทรัพย์* คืออะไร?

ระบบไร้ใบหลักทรัพย์ คือ ระบบที่ใช้การบันทึกข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ เพื่อยืนยันสิทธิในการถือครองหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือพันธบัตร โดยไม่ต้องมีใบหลักทรัพย์ที่เป็นเอกสารจริง ๆ ซึ่งจะช่วยลดการปลอมแปลงข้อมูลและลดความเสียหายจากการสูญเสีย เพราะสามารถทำได้เลยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบใบเอกสารการถือครองสินทรัพย์จริงค่ะ

2. การเข้าถึง (Accessibility)

G-Token
(โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน
)

Saving Bond
(พันธบัตรออมทรัพย์)

สามารถซื้อขายได้ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ธนาคารตัวแทน และบริษัทหลักทรัพย์บนช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์

การเข้าถึง Accessibility

สามารถซื้อผ่านวอลเลต สบม. หรือธนาคารตัวแทน หรือตัวแทนจำหน่าย (Selling Agent) ที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งสามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน

3. การซื้อขายผ่านตลาดรอง

G-Token
(โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน
)

Saving Bond
(พันธบัตรออมทรัพย์)

สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งใช้เวลาดำเนินการแบบ Real Time (+1) ทำให้มีความสะดวกและรวดเร็วเป็นอย่างมาก

การซื้อขายผ่านตลาดรอง

สามารถซื้อผ่านตลาดตราสารหนี้ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่า 7-10 วันทำการ และอาจจะต้องถือครองจนครบกำหนด

4. การลงทุนขั้นต่ำ

G-Token
(โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน
)

Saving Bond
(พันธบัตรออมทรัพย์)

ลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่หน่วยละ 1-100 บาท ซึ่งถือว่าลงทุนต่ำมาก อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาลงทุน 1-3 ปี

การลงทุนขั้นต่ำ

ลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่หน่วยละ 100-1,000 บาท ซึ่งถือว่าลงทุนสูง อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาลงทุน 3-10 ปี

5. การยืนยันความเป็นเจ้าของ

G-Token
(โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน
)

Saving Bond
(พันธบัตรออมทรัพย์)

เพราะการซื้อขายอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้การยืนยันความเป็นเจ้าของและสิทธิในการถือครองมีความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้ง่าย

การยืนยันความเป็นเจ้าของ

การยืนยันความเป็นเจ้าของจะต้องผ่านระบบทะเบียนกับตัวกลางที่ให้การกำกับดูแล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบค่อนข้างยุ่งยาก เมื่อมีการตรวจสอบหรือโอนย้าย


นักลงทุนซื้อขาย G-Token ได้ยังไง?

คุณน้าส่องแว่นขยาย

หากนักลงทุนต้องการซื้อขาย G-Token จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือผ่านแอปพลิเคชันของบริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ

โดยในปัจจุบัน เดือนพฤษภาคม 2568 ยังไม่พบรายชื่อของบริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการค่ะ เนื่องจากคาดการณ์ว่าโครงการนำร่อง G-Token จะเริ่มขายครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2568 แต่จะเปิดทำการอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2568 ดังนั้น รอติดตามประกาศจากกระทรวงการคลังต่อไปค่ะ

รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนำร่อง G-Token

  • การซื้อขาย : แบบ Real Time (+1)
  • วัตถุประสงค์ : ระดมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สินสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568
  • หน่วย : 1 G-Token เท่ากับ 1-100 บาท
  • ระยะเวลา (อายุ) : ไม่เกิน 1 ปี ต่อการออก 1 รอบ
  • ผลตอบแทน : การให้ผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยเทียบเคียงกับพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลรุ่นอายุใกล้เคียงกัน
  • ระยะเวลาในการเปลี่ยนมือ : ไม่มี เพราะปกติแล้ว พันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลจะห้ามเปลี่ยนมือ 6 เดือน ทั้งนี้ ระยะเวลาในการเปลี่ยนมืออาจขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของโครงการ
  • ช่องทางการจัดจำหน่าย : ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset), นายหน้าที่ทำหน้าที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset), ธนาคารตัวแทน หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ


ขั้นตอนการซื้อขาย G-Token

สำหรับขั้นตอนการซื้อขาย G-Token สามารถทำได้ 3 ขั้นตอน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. สมัครเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
  2. โอนเงินเข้าบัญชี จากนั้นเลือกซื้อ G-Token ตามที่ต้องการ
  3. รอรับผลตอบแทนตามระยะเวลาที่กำหนด หรือสามารถขายในตลาดรองได้

Tip! การลงทุน G-Token เหมาะกับนักลงทุนแบบไหน?

  • นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนมือใหม่
  • นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินทั่วไป
  • นักลงทุนที่มองหาตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้นในระบบดิจิทัล
  • นักลงทุนที่ต้องการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทย

ข้อดีของการลงทุน G-Token เป็นอย่างไร?

  • ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้สะดวกมากขึ้น
  • การทำธุรกรรมมีความโปร่งใส และที่สำคัญ ก็คือ สามารถตรวจสอบได้ 
  • สามารถซื้อขายได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
  • รัฐบาลเป็นผู้ออกและค้ำประกันเงินต้นและผลตอบแทน ทำให้มีความเสี่ยงต่ำ
  • สามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก

ความเสี่ยงที่ควรระวังของการลงทุน G-Token มีอะไรบ้าง?

  • ราคาในตลาดรองอาจจะผันผวนตามความต้องการของตลาด
  • ผลตอบแทนอาจจะไม่ดีเท่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่นคริปโตเคอร์เรนซีหรือหุ้น
  • นักลงทุนที่ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยีอาจจะพบความยุ่งยากในการซื้อขายสินทรัพย์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
  • การเริ่มต้นพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลอาจใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่องบประมาณของภาครัฐได้


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทุน G-Token

G-Token คืออะไร?

G-Token หรือ Government Token คือ พันธบัตรรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของการชำระคืนเงินต้นพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้

G-Token ไม่เท่ากับคริปโตเคอร์เรนซี?

G-Token ถูกจัดอยู่ในรูปแบบการลงทุน Investment Token หรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เช่นเดียวกันกับ RealX Token ซึ่งหลักการทำงานจะแตกต่างจากคริปโตเคอร์เรนซี เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด

จุดประสงค์ที่รัฐบาลออก G-Token เพื่ออะไร?

  1. เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้สะดวกขึ้น
  2. ลดขั้นตอนการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
  3. การทำธุรกรรมมีความรวดเร็ว
  4. มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบได้
  5. การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

สรุป G-Token คืออะไร? โอกาสและความท้าทายในอนาคต

ทั้งหมดนี้ ก็คือ G-Token หรือโทเคนดิจิทัลที่ถูกออกแบบโดยรัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า G-Token จะให้ผลตอบแทนคล้ายคลึงกันกับพันธบัตรออมทรัพย์ เพราะผู้ถือ G-Token จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของการชำระเงินต้นคืนพร้อมกับดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งการซื้อขายทำได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นลงทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการแปลงโฉมนวัตกรรมทางการเงินที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การลงทุนใน G-Token ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนควรเฝ้าติดตามเช่นกันค่ะ เนื่องจากอาจจะมีความเสี่ยงของสภาพคล่องในตลาดรอง เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่นักลงทุนยังไม่คุ้นเคย ประกอบกับมีนักลงทุนบางส่วนที่มองเห็นว่าการถือครอง G-Token จะดีกว่าการถือพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลจริงหรือไม่ ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลควรมีมาตรการและกลไกในการรับรองความเสี่ยงนี้ อีกทั้งยังต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมดิจิทัลที่มีทั้งความเสี่ยงและความซับซ้อนของระบบเทคโนโลยี ซึ่งนักลงทุนควรติดตามกันต่อไปค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ThaiPBS, Bitkub และฐานเศรษฐกิจ


สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

Picture of khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
บทวิเคราะห์คู่เงิน AUDUSD 14 กรกฎาคม 2025
บทวิเคราะห์ AUDUSD วันที่ 14 กรกฎาคม 2025

พบกับวิเคราะห์ AUDUSD ที่สายเทรดสั้นห้ามพลาด การวิเคราะห์คู่เงิน Forex ดูแนวโน้มราคาล่าสุด สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค

วิเคราะห์ USDCAD ดูแนวโน้มราคาล่าสุด วันที่ 14 กรกฎาคม 2025
วิเคราะห์ USDCAD ดูแนวโน้มราคาล่าสุด วันที่ 14 กรกฎาคม 2025

พบกับวิเคราะห์ USDCAD ที่สายเทรดสั้นห้ามพลาด การวิเคราะห์คู่เงิน Forex ดูแนวโน้มราคาล่าสุด สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค

โบรกเกอร์หุ้นไทยค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นถูก ไม่มีขั้นต่ำ 2025
โบรกเกอร์หุ้นไทยค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นถูก ไม่มีขั้นต่ำ 2025

อยากซื้อหุ้น แต่จะเลือกโบรกเกอร์หุ้นไหนดี? มีโบรกเกอร์ไหนค่าธรรมเนียมถูก ไม่มีขั้นต่ำบ้างนะ คุณน้าจะพาไปดูค่าธรรมเนียมของแต่ละโบรกเกอร์กันค่ะว่าเป็นยังไง

บทวิเคราะห์ทองคำ 12 กรกฎาคม 2025
บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 12 กรกฎาคม 2025

ในบทวิเคราะห์นี้ จะศึกษาภาพรวมปัจจัยพื้นฐานและภาพรวมทางเทคนิคของราคาทองคำ จะมีจุดน่าเข้าซื้อหรือน่าขายจุดไหนบ้าง? บทวิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้มีคำตอบ!

ทางเว็บไซต์ คุณน้าพาเทรด
ได้มีการใช้คุกกี้เพื่อช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้เว็บไซต์ของเราดียิ่งขึ้น


Privacy Policy