ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง จ่ายขั้นต่ำเสี่ยงติดเครดิตบูโรไหม ?

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง
Table of Contents

ในช่วงวัยทำงานเห็นใคร ๆ ก็ทำบัตรเครดิตเลยอยากทำตามบ้าง! แต่รู้หรือไม่คะว่า ถ้าเราใช้บัตรเครดิตได้ไม่ดี อาจทำให้ติดหนี้อย่างมหาศาลได้ ซึ่งต้นเหตุของหนี้เสียส่วนมากก็มาจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตค่ะ เนื่องจากการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตค่อนข้างมีความซับซ้อน ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่ใส่ใจ มองว่าเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย และนั่นก็ถือเป็นความคิดที่ผิดค่ะ เพราะการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มพูน หนี้งอกเงยจนเสี่ยงต่อการติดเครดิตบูโรได้นั่นเองค่ะ

ดังนั้น คุณน้าจึงจะพาทุกคนไปดูวิธีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ถูกต้องกันค่ะ พร้อมทั้งแนะนำว่า ควรเลือกจ่ายยอดบัตรเครดิตแบบไหนถึงจะดีและคุ้มค่าที่สุดค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มกันเลยค่ะ

บัตรเครดิตคืออะไร ?

บัตรเครดิตคืออะไร ?

บัตรเครดิต (Credit Card) คือ สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหนึ่งที่สถาบันทางการเงิน (Bank) และไม่ใช่สถาบันทางการเงิน (Non-bank) ให้บริการแก่ประชาชนในการกู้ยืมตามวงเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย โดยมีหลักการ คือ ยืมเงินก่อนแล้วใช้คืนทีหลังตามระยะเวลาที่กำหนดค่ะ 

แต่มันก็ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำบัตรเครดิตของทุกธนาคารได้นะคะ เพราะว่าผู้ให้บริการจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงตรวจสอบเครดิตของเราก่อน หากเครดิตไม่ดี หรือมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ทำบัตรไม่ผ่านค่ะ

ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม e-Commerce ต่าง ๆ ก็เริ่มนำหลักการใช้ก่อนจ่ายทีหลังไปใช้ค่ะ ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับ SPayLater ของ Shopee หรือ LazPayLater ของ Lazada กันมาบ้าง ซึ่งระบบดังกล่าวก็มีหลักการทำงานเหมือนบัตรเครดิตนั่นเองค่ะ

บัตรเครดิตมีไว้เพื่ออะไร ?

  • ใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการล่วงหน้า
  • ใช้ผ่อนสินค้าและบริการ เพื่อบริหารเงินในกระเป๋า
  • ใช้กดเงินสดจากบัตรเครดิตล่วงหน้า
  • ใช้รับเงินคืน (Cashback), แต้ม (Point) สำหรับแลกรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ห้องรับรองในสนามบิน, ความคุ้มครองในการเดินทาง, ที่จอดรถ หรือโปรโมชันส่วนลดจากร้านค้าต่าง ๆ เป็นต้น

สถิติผู้ใช้บัตรเครดิตในไทย 10 ปีย้อนหลัง

บัตรเครดิตถือเป็นธุรกิจที่ทำเงินให้แก่ผู้ให้บริการมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยมีอัตราการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีค่ะ ซึ่งแม้ว่าในปี 2020 เราจะเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายลดลง แต่ก็เริ่มฟื้นตัวและเติบโตเพิ่มมากขึ้นในปีถัดมาค่ะ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความนิยมในการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ที่เติบโตควบคู่กับธุรกิจ e-Commerce อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง ทำให้บัตรเครดิตได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนั่นเองค่ะ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีสถิติการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ดังนี้ค่ะ

สถิติผู้ใช้บัตรเครดิตในไทย 10 ปีย้อนหลัง

จากสถิติด้านบน เราจะเห็นว่า ผู้คนนิยมใช้บัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในช่วงโควิด-19 โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.27% จากปี 2020 นับเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ

ข้อดีและข้อเสียของบัตรเครดิต

ข้อดี

  • ไม่ต้องพกเงินสด ทำให้ไม่ต้องห่วงว่าเงินจะหาย
  • ไม่ต้องจ่ายเงินค่าของทันที ทำให้เราวางแผนการใช้เงินได้
  • ใช้ผ่อนค่าของที่ไม่สามารถจ่ายได้ในขณะนั้น
  • ใช้กดเงินล่วงหน้าได้ เผื่อเป็นทางเลือกในยามจำเป็น
  • ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมายแตกต่างกัน ทั้งแต้มสะสม, เงินคืน, ของรางวัล, โปรโมชันส่วนลด, ห้องรับรอง และอื่น ๆ แล้วแต่ธนาคารและประเภทบัตรเครดิต
  • ใช้จ่ายได้ทั้งออนไลน์และร้านค้าทั่วไป
  • ใช้จ่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ยกเลิกการทำรายการได้ หากสินค้าหรือบริการมีปัญหา
  • สามารถอายัดบัตรได้ หากบัตรหายหรือมีการทำรายการที่ผิดปกติ

ข้อเสีย

  • อาจสร้างนิสัยการสร้างหนี้เสีย (หนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน)
  • วงเงินจำกัด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ใช้
  • ร้านบางแห่งไม่รับบัตรเครดิต หรือรับเฉพาะบางธนาคาร หรือมีขั้นต่ำในการใช้บริการ
  • ร้านบางแห่งมีค่าธรรมเนียมในการรูดบัตรเครดิต
  • บัตรเครดิตบางใบมีค่าธรรมเนียมหรือเงื่อนไขในการใช้งาน
  • บัตรเครดิตมีการคิดดอกเบี้ยที่แพงมากหลังช่วงปลอดดอกเบี้ย
  • ดอกเบี้ยบัตรเครดิตส่วนมากเป็นการคิดแบบทบยอด
  • หากจ่ายช้าหรือไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ผู้ใช้จะได้รับการบันทึกประวัติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำธุรกรรมกู้ยืมในอนาคตค่ะ

ธนาคารได้อะไรจากการให้บริการบัตรเครดิต ?

บัตรเครดิตถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยผู้ให้บริการจะได้รับรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิต ดังนี้ค่ะ

  • ค่าธรรมเนียม ทั้งค่าธรรมเนียมในการใช้งานบัตร ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทบัตร และค่าธรรมเนียมในการรูดบัตร ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของราคาสินค้าและบริการ
  • ดอกเบี้ย โดยจะมีการเรียกเก็บสำหรับการผ่อนสินค้าและบริการ, การเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า และการชำระหนี้ล่าช้า
  • ค่าทวงถามหนี้ ในกรณีที่มีการจ่ายหนี้บัตรเครดิตล่าช้า
  • อัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่มีการใช้งานที่ต่างประเทศ ซึ่งจะมีเรทที่สูงกว่าปกติ

แม้ว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการบัตรเครดิตได้หลายช่องทาง แต่สิ่งที่สร้างรายได้ให้ธนาคารมากเป็นพิเศษ คือ “ดอกเบี้ยบัตรเครดิต” ค่ะ


ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคืออะไร ?

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคืออะไร ?

ดอกเบี้ยบัตรเครดิต (Credit Card Interest) คือ เงินส่วนหนึ่งที่ผู้ให้บริการ (Bank/ Non-bank) คิดจากลูกค้าในการใช้บริการ โดยจะมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามราคาสินค้าและบริการ, จำนวนวันที่ใช้เงิน และอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตค่ะ

โดยปกติแล้ว บัตรเครดิตแต่ละใบมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการและประเภทบัตร ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ เพื่อให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามค่ะ ดังนั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะโดนเรียกเก็บดอกเบี้ยอย่างไม่สมเหตุสมผลค่ะ

เก็บดอกเบี้ยบัตรเครดิตในกรณีไหนบ้าง ?

  • จ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำหรือบางส่วน
  • จ่ายหนี้บัตรเครดิตล่าช้าหรือไม่ได้จ่าย
  • ผ่อนสินค้าและบริการ (กรณีที่ไม่มีโปรโมชันผ่อน 0%)
  • กดเงินสดล่วงหน้า

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง ?

หลายคนพลาดสร้างหนี้จากความไม่รู้และไม่เข้าใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดังนั้น คุณน้าจะมาสอนวิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ถูกต้องแบบง่าย ๆ กันค่ะ

การคิดดอกเบี้ยในกรณีจ่ายขั้นต่ำ/ บางส่วน / ล่าช้า/ ไม่ได้จ่าย

คุณน้าใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการในรอบบัญชี 6 ต.ค. – 5 พ.ย. เป็นจำนวน 3,950 บาท ดังตาราง ซึ่งมีกำหนดชำระเงินในวันที่ 25 พ.ย. อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ คุณน้าไม่สามารถจ่ายเงินได้เต็มจำนวน ดังนั้น คุณน้าจึงถูกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 16% ต่อปี ดังนี้ค่ะ

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง
ตัวอย่างใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตเดือนตุลาคม (รอบบัญชี 6 ต.ค. – 5 พ.ย.)
ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง
ตัวอย่างใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตเดือนพฤศจิกายน (รอบบัญชี 6 พ.ย. – 5 ธ.ค.)

ดอกเบี้ย = จำนวนเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า หรือค่าสินค้าและบริการ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวัน / จำนวนวันในรอบปี

วิธีคิดดอกเบี้ยในกรณีจ่ายขั้นต่ำ/ บางส่วน/ ไม่ได้จ่าย

(1) ดอกเบี้ยยอดค่าใช้จ่าย

  • WWW.LAZADA.CO.TH BANGKOK TH

3,200 บาท x 16% x 13 วัน (24 ต.ค. – 5 พ.ย.) / 365 = 18.23 บาท

3,200 บาท x 16% x 19 วัน (6 พ.ย. – 24 พ.ย.) / 365 = 26.65 บาท

  • SHOPEEPAY BANGKOK TH

750 บาท x 16% x 3 วัน (1 พ.ย. – 5 พ.ย.) / 365 = 0.98 บาท

750 บาท x 16% x 19 วัน (6 พ.ย. – 24 พ.ย.) / 365 = 6.24 บาท

(2) ดอกเบี้ยยอดคงค้าง

(3,950 บาท – 2,000 บาท) x 16% x 11 วัน (25 พ.ย. – 5 ธ.ค.) / 365 = 9.40 บาท

ดังนั้น ดอกเบี้ยที่คุณน้าถูกเรียกเก็บเมื่อไม่สามารถจ่ายเงินได้เต็มจำนวนในช่วงกำหนดชำระจะเท่ากับ 61.50 บาทค่ะ และหากคุณน้ายังไม่สามารถจ่ายได้ครบในเดือน ธ.ค. ก็จะมีการเก็บดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ

อย่างไรก็ดี หากบัตรเครดิตที่ใช้มีการคิดค่าธรรมเนียมรายปีด้วย จะต้องบวกค่าธรรมเนียมนั้นเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งสามารถดูตัวอย่างได้ในการคำนวณจากใบแจ้งยอดของทุกท่านค่ะ


การคิดดอกเบี้ยในกรณีเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า

คุณน้าใช้บัตรเครดิตกดเงินสดเพื่อใช้จ่ายในช่วงฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งมีกำหนดชำระเงินในวันที่ 25 พ.ย. 

หากคุณน้าเลือกจ่ายเงินคืนแบบแบ่งชำระรายเดือนเป็นจำนวน 4 เดือน คุณน้าจะถูกคิดดอกเบี้ย ดังนี้ค่ะ

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง

วิธีคิดดอกเบี้ยในกรณีเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแบบแบ่งชำระรายเดือน

10,000 บาท x 0.74% x 4 เดือน = 296 บาท

ดังนั้น ดอกเบี้ยการกดเงินสดล่วงหน้าโดยเลือกจ่ายแบบแบ่งชำระที่คุณน้าถูกเรียกเก็บจะเท่ากับ 296 บาทค่ะ


แต่หากคุณน้าเลือกถอนเงินสดโดยเลือกจ่ายขั้นต่ำหรือเต็มจำนวน คุณน้าจะถูกคิดดอกเบี้ย ดังนี้ค่ะ

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง

วิธีคิดดอกเบี้ยในกรณีเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแบบจ่ายขั้นต่ำหรือเต็มจำนวน

(1) ดอกเบี้ยการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า

10,000 บาท x 16% x 12 วัน (25 ต.ค. – 5 พ.ย.) / 365 = 52.60 บาท

ดังนั้น ดอกเบี้ยการกดเงินสดล่วงหน้าโดยเลือกจ่ายแบบเต็มจำนวนที่คุณน้าถูกเรียกเก็บจะเท่ากับ 52.60 บาท แต่หากรวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วจะเท่ากับ 373.60 บาทค่ะ

อย่างไรก็ดี หากถึงวันครบกำหนดชำระแล้ว คุณน้าไม่สามารถจ่ายเงินได้เต็มจำนวน โดยจ่ายได้เพียง 1,500 บาท คุณน้าจะถูกคิดดอกเบี้ย ดังนี้

(2) ดอกเบี้ยยอดค่าใช้จ่าย

10,000 บาท x 16% x 19 วัน (6 พ.ย. – 24 พ.ย.) / 365 = 83.28 บาท

(3) ดอกเบี้ยยอดคงค้าง

(10,000 บาท – 1,500 บาท) x 16% x 11 วัน (25 พ.ย. – 5 ธ.ค.) / 365 = 40.98 บาท

ดังนั้น ดอกเบี้ยการกดเงินสดล่วงหน้าโดยเลือกจ่ายแบบบางส่วนที่คุณน้าถูกเรียกเก็บจะเท่ากับ (2) + (3) = 124.26 บาท แต่หากรวมดอกเบี้ยในเดือนแรกและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วจะเท่ากับ 497.86 บาทค่ะ และหากยังจ่ายไม่ครบในเดือน ธ.ค. ก็จะมีการเก็บดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ


ทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพง ?

จากตัวอย่างข้างบน ทุกคนจะเห็นว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีอัตราที่สูงมาก ดอกเบี้ยของการจ่ายขั้นต่ำแพงกว่าการแบ่งจ่ายรายเดือนเสียอีก ดังนั้น มันจึงเป็นที่สงสัยว่า ทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตถึงแพงกว่าดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ กันนะ?

นั่นเป็นเพราะว่าทุกคนสามารถเข้าถึงบัตรเครดิตได้ง่ายกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ค่ะ อีกทั้ง ยังใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการหลากหลายประเภท ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงต้องการหลักประกันหรือดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงในการเป็นหนี้สูญนั่นเองค่ะ

การจ่ายยอดบัตรเครดิต เลือกยังไงให้คุ้ม ใช้ยังไงไม่ให้เสียดอกเบี้ย

การจ่ายยอดบัตรเครดิต เลือกยังไงให้คุ้ม ใช้ยังไงไม่ให้เสียดอกเบี้ย

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ให้บริการจะมีให้เราเลือกว่าจะจ่ายยอดบัตรเครดิตในรูปแบบไหน ประกอบด้วย

  • จ่ายเต็ม คือ การชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการในรอบบัญชีนั้น ๆ แบบเต็มจำนวน
  • จ่ายขั้นต่ำ คือ การชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการในรอบบัญชีนั้น ๆ เพียงขั้นต่ำหรือบางส่วนเท่านั้น โดยจำนวนเงินขั้นต่ำจะแตกต่างกันแล้วแต่ผู้ให้บริการ ซึ่งล่าสุดได้มีข่าวออกมาว่า ธปท. จะมีการปรับเพิ่มขั้นต่ำในการจ่ายยอดบัตรเครดิตจากเดิม 5% เป็น 8% ในปี 2024 และปรับขึ้นเป็น 10% ในปี 2025 ค่ะ
  • แบ่งจ่ายรายเดือน คือ การชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการบางอย่างในรอบบัญชีนั้น ๆ แบบแบ่งจ่ายรายเดือน โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 4, 6, 9, 10, 18, 24 หรือ 36 เดือน ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ ซึ่งสินค้าหรือบริการที่สามารถแบ่งจ่ายได้จะต้องมีราคาหรือเกณฑ์ตามที่ผู้ให้บริการกำหนดค่ะ

คุณน้าเชื่อว่า ถ้าเลือกได้ ทุกคนก็คงไม่อยากเป็นหนี้กันใช่มั้ยล่ะคะ ดังนั้น จะต้องทำยังไงถ้าไม่อยากเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต? คำตอบก็ง่ายมากเลยค่ะ เพราะทุกคนเพียงต้องบริหารเงินของตัวเองให้ดี, มีวินัยในการใช้เงิน และเลือกจ่ายเต็มจำนวนเท่านั้น แต่หากของสิ่งนั้นมีราคาแพงเกินความสามารถของเราที่จะจ่ายไหว ก็เลือกจ่ายแบบแบ่งผ่อนชำระเพื่อลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ย เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิตได้อย่างเต็มที่แล้วค่ะ

ทำไมถึงไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ ?

หลายครั้งเลยค่ะที่เรามักจะได้ยินว่า ไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ แต่เหตุผลของมันคืออะไรกันนะ คุณน้าจะพาไปดูค่ะ

  • การจ่ายขั้นต่ำจะทำให้คุณถูกคิดดอกเบี้ยอย่างมหาศาล ทั้งจากยอดค่าใช้จ่าย, ยอดค้างชำระ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระค่ะ ซึ่งหากค้างชำระอีก ยอดก็จะทบไปเรื่อย ๆ 
  • ยอดค่าใช้จ่ายใหม่จะถูกนำมาคิดดอกเบี้ยด้วย ทำให้หนี้เพิ่มพูน
  • โดนติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งมีค่าบริการและค่าธรรมเนียมในการทวงถาม
  • หากมีหนี้บัตรเครดิตคงค้างเกิน 90 วัน จะส่งผลต่อเครดิตของผู้ใช้ ซึ่งอาจถูกประเมินว่า ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี ทำให้เสี่ยงต่อการติดเครดิตบูโร ยากต่อการทำธุรกรรมอื่น ๆ ในอนาคตได้ค่ะ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับดอกเบี้ยบัตรเครดิต

❓บัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยเท่าไร
การคำนวณดอกเบี้ยของบัตรเครดิตแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเป็นหลัก แต่โดยส่วนมากจะอยู่ในอัตรา 16% ต่อปี
❓ดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงสุดกี่เปอร์เซ็นต์
ธปท. กำหนดให้ผู้ออกบัตรสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยค้างชำระได้ไม่เกิน 18% ต่อปี
❓บัตรเครดิตปลอดดอกเบี้ยกี่วัน
ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยจะมีการนับจากวันแรกของรอบบัญชีไปจนถึงวันกำหนดชำระเงิน โดยกำหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยไว้ที่ประมาณ 45 – 56 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทบัตรและผู้ให้บริการ
❓บัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยกี่วัน
ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะถูกคำนวณเมื่อรายการถูกบันทึก ซึ่งหากมีการจ่ายขั้นต่ำ จะถูกคิดดอกเบี้ย 2 ยอด คือ 1) ตั้งแต่วันที่บันทึกรายการสำเร็จ – วันที่ครบกำหนดชำระ และ 2) วันที่จ่ายขั้นต่ำ – วันสรุปยอดบัญชีในเดือนถัดไป ดังนั้น จำนวนวันที่มีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตของแต่ละคนจึงแตกต่างกันค่ะ
❓ดอกเบี้ย 25% คืออะไร
ดอกเบี้ย 25% คือ การคำนวณดอกเบี้ยแบบรายปี โดยการนำเงินต้น x 25% / จำนวนวันในรอบปี มีไว้ใช้สำหรับสินเชื่อหมุนเวียนค่ะ

สรุป ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคืออะไร คิดยังไง และควรเลือกแบบไหน

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตถือเป็นเงินค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งที่เราจ่ายให้แก่ผู้ให้บริการ เมื่อมีการใช้จ่ายเงินเกินกำหนดระยะเวลา หรือยืมเงินล่วงหน้ามาใช้ค่ะ ซึ่งเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว โดยคำนวณได้จากการนำยอดค่าใช้จ่าย, ยอดค้างชำระ, ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และจำนวนวันที่ค้างชำระมาคิด ทำให้ดอกเบี้ยของบัตรเครดิตมีอัตราที่สูงมาก

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปัจจุบัน ส่วนมากจะอยู่ที่ 16% ขณะที่ ธปท. มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 18% ค่ะ ซึ่งจำนวนดังกล่าวมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดหนี้สูญ ดังนั้น หากเราไม่อยากเสียดอกเบี้ยเหล่านี้ก็ควรจ่ายเต็มจำนวน, จ่ายให้ตรงเวลา หรือวางแผนแบ่งชำระให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองค่ะ ดังนั้น อย่าลืมวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้ดีกันด้วยนะคะ เพราะบัตรเครดิตมีประโยชน์เป็นอย่างมาก หากรู้จักใช้ให้ดีค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย 1, ธนาคารแห่งประเทศไทย 2, SET Invest Now, Money Buffalo, KTC, Krungsri, Investerest และ Moneyhub

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
วิเคราะห์ราคาทองคำ
คุณน้าพาเทรดทอง : วิเคราะห์ทองคำวันที่ 29 เมษายน 2567

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันจันทมรนที่ 29 เมษายน 2567 กันค่า

แนวต้าน : 2,340 / 2,355 / 2,370
แนวรับ : 2,315 / 2,295 / 2,280

Ichimoku Cloud คืออะไร? อินดิเคเตอร์ก้อนเมฆสารพัดประโยชน์
Ichimoku Cloud คืออะไร? อินดิเคเตอร์ก้อนเมฆสารพัดประโยชน์ กับเคล็ดลับการเทรดที่คุณควรรู้!

นวันนี้คุณน้าพาเทรดจะพาทุกคนมารู้จักกับอีกหนึ่งอินดิเคเตอร์สารพัดประโยชน์ที่สามารถครบจบในตัวเอง อย่าง Ichimoku Cloud

ส่องเทรนด์ Pop Mart คืออะไร ลงทุนหุ้นของเล่น Art toy น่าสนใจปี 2024
ส่องเทรนด์ Pop Mart คืออะไร ลงทุนหุ้นของเล่น Art toy น่าสนใจปี 2024

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “กล่องสุ่ม” “Art toy” หรือ “Pop Mart” กระแสที่กำลังในประเทศไทย วันนี้คุณน้าจะพาทุกคนไปรู้จักกับเทรนด์กล่องสุ่มของ Pop Mart ค่ะ