“ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม” สำคัญอย่างไร เท่าไหร่ถึงจะดี ?

ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม สำคัญอย่างไร เท่าไหร่ถึงจะดี
Table of Contents

เมื่อต้องเลือกกองทุนรวม นอกจากวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องดูแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ “ค่าธรรมเนียม” ค่ะ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้อาจทำให้ผลตอบแทนที่ทุกคนจะได้รับหายไปเกือบครึ่ง หากลงทุนในระยะยาว ดังนั้น คุณน้าจะพาทุกคนไปดูกันว่า ค่าธรรมเนียมสำหรับกองทุนรวมคิดอย่างไร? เก็บจากอะไรบ้าง? แล้วต้องเลือกค่าธรรมเนียมที่เท่าไหร่กันนะ?


ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม คืออะไร? 

ค่าธรรมเนียม คือ ค่าบริการที่เรียกเก็บตามกฎหมายแก่ผู้ใช้ ไม่ว่าเราจะใช้บริการใด ๆ เราก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนกับเราซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งค่ะ

ทำไมกองทุนรวมถึงมีค่าธรรมเนียม? นั่นก็เพราะว่า กองทุนจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการภายใน ทั้งการซื้อ ขาย สับเปลี่ยน จัดการ ดูแลผลประโยชน์ และอื่น ๆ ดังนั้น บลจ. จึงจำเป็นต้องเก็บเงินจากลูกค้า เพื่อนำไปบริหารกองทุนนั่นเอง

เสียค่าธรรมเนียมก็ถูกต้องแล้ว ทำไมต้องมาดูอีกว่า แต่ละกองคิดเท่าไหร่? นั่นก็เพราะเราเลือกกองทุนเหมือนสินค้าชิ้นหนึ่งค่ะ ดังนั้น ค่าธรรมเนียมจะสามารถบอกได้ว่า เราซื้อของชิ้นนั้นถูกหรือแพง


ประเภทของค่าธรรมเนียมกองทุนรวม

ค่าธรรมเนียมของกองทุนมาจาก 2 ส่วน ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหนังสือชี้ชวน (Fund Fact Sheet) ของแต่ละกองทุน ดังนี้ค่ะ

ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

1. ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

เกิดขึ้นขณะที่เราซื้อ – ขายหน่วยลงทุน ซึ่งคิดเป็น % ของมูลค่าการซื้อขาย โดยจะถูกหักออกจากมูลค่าเงินลงทุน หลังคำสั่งซื้อขายถูกยืนยันเรียบร้อยแล้ว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเมื่อเราซื้อกองทุนแล้วจึง “ติดลบทันที” นั่นเองค่ะ

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราซื้อกองทุน A ด้วยเงิน 500 บาท หากกองทุนนี้เก็บค่าธรรมเนียมขายอยู่ที่ 1% หลังจากคำสั่งซื้อสำเร็จ จำนวนเงินที่ปรากฏในพอร์ตจะเป็น 495 บาท

ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน มาจากอะไรบ้าง?

  • ค่าธรรมเนียมขาย (Front-End Fee) : เกิดขึ้นเมื่อ บลจ. ขายกองทุนให้เรา หรือก็คือ เราซื้อกองทุน
  • ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back-End Fee) : เกิดขึ้นเมื่อ บลจ. รับซื้อกองทุนของเราคืน หรือก็คือ เราขายกองทุน
  • ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า (Switching-In Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราย้ายเงินจากกองทุนอื่นมายังกองทุนที่ถืออยู่ (บลจ. เดียวกัน)
  • ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก (Switching-Out Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราย้ายเงินจากกองทุนที่ถืออยู่ไปยังกองทุนอื่น (บลจ. เดียวกัน)
  • ค่าธรรมเนียมการโอน (Transfer Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราโอนสิทธิ์ในหน่วยลงทุนให้ผู้อื่น

นอกจากนี้ กองทุนรวมประเภทลดหย่อนภาษีอย่าง RMF และ SSF ที่มีการกำหนดระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน หากเราถือไม่ครบตามที่กำหนด อาจต้องจ่ายค่าปรับที่ออกก่อนกำหนด (Exit Fee) ด้วยค่ะ ดังนั้น คุณน้าขอเตือนให้ทุกคนอ่านเงื่อนไขให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อขายนะคะ


ค่าธรรมเนียมที่หักจากกองทุนรวม

2. ค่าธรรมเนียมที่หักจากกองทุนรวม

เกิดขึ้นหลังจากที่เราซื้อกองทุนแล้ว โดยเงินส่วนนี้จะไม่ถูกเรียกเก็บจากเงินในบัญชีของเราโดยตรง แต่จะถูกหักจากสินทรัพย์สุทธิ (NAV) เป็นประจำทุกวัน โดยคิดเป็น % ต่อปี

ตัวอย่างเช่น กองทุน A เก็บค่าบริหารจัดการ ปีละ 3% (3% หารด้วย 365 วัน) ซึ่งเท่ากับ 0.0082% ต่อวัน นั่นหมายความว่า NAV ที่เราเห็นในแต่ละวันนั้น นอกจากจะบวก/ลบกำไรขาดทุนแล้ว ยังหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้ด้วย

ค่าธรรมเนียมที่หักจากกองทุนรวม มาจากอะไรบ้าง?

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) : ถูกเก็บเพื่อเป็นค่าจัดการกองทุนให้แก่ “ผู้จัดการกองทุน” โดยกองทุนแบบ Active มักจะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่ากองทุนแบบ Passive
  • ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) : ถูกเก็บเพื่อเป็นค่าดูแลให้แก่ “ผู้ดูแลผลประโยชน์” ที่ทำหน้าที่รับรอง NAV และผลประโยชน์ตามนโยบายของกองทุน
  • ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (Registrar Fee) : ถูกเก็บเพื่อเป็นค่าดูแลให้แก่ “นายทะเบียน” ที่ทำหน้าที่ดูแลรายชื่อและสิทธิประโยชน์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของเรา

นอกจากค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้ว ทางกองทุนอาจมีค่าบริหารงานอื่น ๆ ได้เช่นกันค่ะ ดังนั้น เราจึงต้องอ่าน Fund Fact Sheet เพื่อตรวจสอบว่า กองทุนนั้น ๆ มีค่าธรรมเนียมส่วนไหนบ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน


การดูค่าธรรมเนียมกองทุนรวม

การดูค่าธรรมเนียมกองทุนรวม

นอกจาก Fund Fact Sheet ที่สามารถดูค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้แล้ว เรายังสามารถดูรายละเอียดได้จากแอปพลิเคชันของนายหน้าที่เราซื้อขาย รวมถึงเว็บไซต์แนะนำกองทุนต่าง ๆ ที่เขาสรุปออกมาให้ดูง่ายขึ้นได้เช่นกันค่ะ

โดยค่าธรรมเนียมจะถูกแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ค่าธรรมเนียมตามหนังสือชี้ชวน หรือก็คือ ค่าใช้จ่ายสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น 
  • ค่าธรรมเนียมที่เก็บจริง หรือค่าใช้จ่ายที่เราเสียจริง ๆ ในปัจจุบัน

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ มักจะถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน และมีการระบุ “ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด” ไว้เพื่อแจ้งแก่นักลงทุน ซึ่งเราสามารถใช้ตัวเลขเหล่านี้เพื่อตัดสินใจในการเลือกกองทุนค่ะ


ค่าธรรมเนียม ทำให้กำไรลดลงจริงหรือ ?

ทำไม “ค่าธรรมเนียม” จึงสำคัญ? จากที่คุณน้าได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากเราซื้อกองทุน ค่าธรรมเนียมจะถูกเก็บตั้งแต่ที่เราซื้อหน่วยลงทุน ขณะที่เราถือหน่วยลงทุน และเมื่อเราขายหน่วยลงทุนทิ้งไป ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จึงเยอะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

และที่สำคัญเลย คือ ยิ่งค่าธรรมเนียมสูง ผลตอบแทนที่เราจะได้รับก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วยค่ะ ตัวอย่างเช่น หากเราลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท นาน 5 ปี ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 7% ผลตอบแทนที่ลบด้วยค่าธรรมเนียม จะเป็นดังนี้ค่ะ

ค่าธรรมเนียม ทำให้กำไรลดลงจริงหรือ ?

ตัวอย่างข้างบนนี้ คิดด้วยเงินเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ไม่มีการ DCA ค่ะ ซึ่งหลังผ่านไป 5 ปี ค่าธรรมเนียม 2.5% จะทำให้ผลตอบแทนของเราลดลงไปถึง -12.54% ขณะเดียวกัน หากเรามีการ DCA สะสมหน่วยลงทุนไปเรื่อย ๆ มีการทบต้นทบดอก และลงทุนนานกว่านี้ มันก็จะทำให้ผลตอบแทนของเราหายไปเกือบครึ่งได้ ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของค่าธรรมเนียมกันหรือยังคะว่าน่ากลัวแค่ไหน


หลักการเลือกกองทุนจาก “ค่าธรรมเนียม”

1) เปรียบเทียบกองทุนที่นโยบายเหมือนกัน

การเปรียบเทียบนโยบายการลงทุน จะทำให้เราทราบว่า มีกองทุนไหนบ้างที่ลงทุนแบบเดียวกัน จากนั้น มันจะทำให้เราเห็นถึงโอกาส กลยุทธ์ ผลการดำเนินงาน และสุดท้าย คือ “ค่าธรรมเนียม” ที่เป็นตัวตัดสินค่ะ เพราะมันอาจทำให้ผลตอบแทนที่ทุกคนจะได้รับหายไปมากกว่าที่เราคาดคิด

โดยเฉพาะกองทุนที่เป็น Feeder Fund ซึ่งอาจมี Master Fund เดียวกัน เรายิ่งต้องเปรียบเทียบเพื่อใช้ค่าธรรมเนียมในการตัดสิน

2) เน้นลงทุนในกองทุนแบบ Passive Fund

อย่างที่ทุกคนรู้ กองทุนแบบ Passive Fund จะประหยัดค่าธรรมเนียมการจัดการได้มากกว่า Active Fund ดังนั้น หากต้องการลงทุนระยะยาว และไม่อยากเห็นผลตอบแทนหายไปมากนัก เราอาจเลือกกองทุนแบบ Passive Fund แทนค่ะ

3) ไม่ซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ

นี่เป็นอีกข้อที่สำคัญมาก ๆ และหลายคนอาจไม่รู้ เพราะทุกการซื้อขายจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้ง เช่น ถ้าเราจะ DCA กองทุน A ทุกเดือน เราต้องเสียค่าธรรมเนียมรายครั้ง 0.50% ซึ่งรวม 12 ครั้ง จะเท่ากับ 6% นั่นจึงเป็นเหตุผลที่กองทุนรวมเหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะเราจะได้เปรียบในเรื่องค่าธรรมเนียมมากกว่าการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นค่ะ

4) ติดตามผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียม

สุดท้าย ทุกคนต้องอย่าลืมนะคะว่า ค่าธรรมเนียมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะไม่เกินจากเพดานสูงสุดที่ถูกระบุไว้ใน Fund Fact Sheet ค่ะ ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบค่าธรรมเนียมของกองทุน รวมถึงผลการดำเนินงานของกองทุน เทียบในกลุ่มเดียวกัน เพื่อพิจารณาเปลี่ยนกองทุน หากผลการดำเนินงานไม่ดี


สรุปรวม “ค่าธรรมเนียม” กองทุนรวม เท่าไหร่ถึงจะดี ?

จากทั้งหมดนี้ คุณน้าเชื่อว่า ทุกคนจะต้องเห็นถึงความสำคัญของค่าธรรมเนียมแล้วอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ว่า ต้องเลือกที่ค่าธรรมเนียมต่ำ ๆ ถึงจะดีนะคะ เพราะทุกคนต้องทราบด้วยว่า นโยบาย โอกาส การดำเนินงาน ตลอดจนผลตอบแทนของกองทุนก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้น หากต้องตอบว่า ต้องเลือกที่ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ คุณน้าขอแนะนำว่า ให้ทุกคนลองเปรียบเทียบกองทุนที่นโยบายเหมือนกันก่อน จากนั้นค่อยเลือกที่ค่าธรรมเนียมต่ำสุดค่ะ

แนวคิดเรื่องค่าธรรมเนียมนี้ ทุกคนสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสินทรัพย์ และทุกเรื่องในชีวิตประจำวันเลยค่ะ มันจะทำให้เราได้ของที่คุ้มค่า พร้อมกับประหยัดเงินในกระเป๋ามากขึ้น แม้จะเป็นเงินเพียงไม่กี่บาท แต่เมื่อทบยอดกันแล้วก็สร้างผลกระทบได้เช่นกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : SEC1, SEC2, Checkraka

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
แนะนำ 4 ประกันสัตว์เลี้ยง
4 ประกันสัตว์เลี้ยงแนะนำ สำหรับคนรักสัตว์โดยเฉพาะ!!

ประกันสัตว์เลี้ยงถือเป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับคนรักสุนัขรักแมว เชื่อว่าใครหลายคนอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนที่เรารักไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงค่ะ ซึ่งการทำประกันสัตว์เลี้ยงจะช่วยในเรื่องของการดูแลค่ารักษาและยังช่วยสร้างความสบายใจให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงอีกด้วย วันนี้คุณน้าอยากจะมาแนะนำ “ประกันสัตว์เลี้ยง” อีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง ทำไมถึงควรทำ ? ติดตามได้ในบทความนี้เลยค่ะ   Pet

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร ? เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ไว้ ใครต้องจ่ายบ้าง ?
ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร ? เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ไว้ ใครต้องจ่ายบ้าง ?

ภาษีธุรกิจเฉพาะถือเป็นเรื่องใกล้ตัวกับทุกคนในวัยทำงาน คุณน้าจะมาไขข้อสงสัยและทำความรู้จักกับภาษีธุรกิจเฉพาะ ติดตามกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ