ขอคืนภาษีกี่วันได้เงิน พร้อมเคล็ดลับยื่นยังไงให้ได้คืนเร็ว !

ขอคืนภาษีกี่วันได้เงิน เคล็ดลับยื่นยังไงให้ได้คืนเร็ว
Table of Contents

รายได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ขอคืนภาษีได้ไหม?! สำหรับผู้ที่มีรายได้เกินเกณฑ์แล้วต้องยื่นภาษี เคยตรวจสอบกันไหมคะว่า ตัวเองมีเงินคืนภาษีหรือเปล่า เพราะคนจำนวนไม่น้อยเลยค่ะที่ละเลยเงินในส่วนนี้ คิดว่าการขอคืนนั้นยุ่งยาก แต่ในบทความนี้คุณน้าจะพาไปดูวิธีการขอคืนภาษีง่าย ๆ กันค่ะ พร้อมเคล็ดลับยื่นยังไงให้ได้คืนเร็ว ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันค่ะ

ภาษี คืออะไร ?

ภาษี (Tax) คือ เงินที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นรายได้นำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ประชาชนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องนำส่งเงินส่วนนี้ให้แก่ภาครัฐค่ะ โดยภาษีที่มนุษย์เงินเดือนต้องยื่น คือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งจะมีการยื่นภาษีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปีค่ะ

การยื่นภาษี VS การเสียภาษี

  • การยื่นภาษี คือ การนำส่งข้อมูลรายได้ให้แก่สรรพากรของผู้ที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 120,000 บาทเป็นต้นไป
  • การเสียภาษี คือ การจ่ายเงินภาษีตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด สำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิเกิน 150,001 บาทขึ้นไป

ดังนั้น การยื่นภาษีจึงไม่เท่ากับเสียภาษีค่ะ เพราะการเสียภาษีจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วยังเกินเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีนั้นขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนค่ะ

วิธีการยื่นภาษีออนไลน์ ทำยังไง ?

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของสรรพากร (www.rd.go.th)
  2. สมัครสมาชิกและเข้าสู่ระบบ
  3. เตรียมเอกสารและหลักฐานที่แสดงรายได้และรายการลดหย่อนภาษี
  4. กด “ยื่นแบบออนไลน์”
  5. หากต้องเสียภาษีให้ชำระยอดตามช่องทางที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรองรับทั้ง
    • E-Payment
    • Internet Credit Card
    • ATM
    • Internet Banking
    • Mobile Banking
  6. หากมีการนำส่งเอกสารหรือขอคืนเงินภาษีที่มีการนำส่งไว้เกินในส่วนของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กด “ตรวจสอบขอคืน/ นำส่งเอกสาร”
  7. ตรวจสอบสถานะการจ่ายหรือขอคืนภาษี

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร ?

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ เงินส่วนหนึ่งที่ผู้จ่ายหักออกไว้ล่วงหน้าก่อนจ่ายให้กับผู้รับเพื่อนำส่งให้กับสรรพากร ซึ่งในการหักเงินส่วนดังกล่าว ผู้จ่ายจะต้องออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) เพื่อเป็นหลักฐานแก่ผู้รับด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่มีสิทธิหักเงินส่วนนี้จะต้องมีสถานะเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลเท่านั้นค่ะ


การขอคืนภาษี คืออะไร ?

การขอคืนภาษี คือ การที่เราขอเงินภาษีในส่วนที่มีการชำระไว้เกินคืน เนื่องจากจำนวนเงินที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่ามูลค่าภาษีที่เราจะต้องจ่ายจริงค่ะ ดังนั้น สำหรับใครที่ไม่มีการเสียภาษีก็ลองเช็คกันดูด้วยนะคะว่า ตัวเองมีจำนวนภาษีที่โดนหักไว้เกินหรือเปล่า เผื่อได้เงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายต่อไปได้ค่ะ

ต้องการขอคืนภาษี ทำยังไง

ต้องการขอคืนเงินภาษี ทำยังไง ?

หลังจากยื่นแบบสำเร็จแล้ว ในหน้าสุดท้ายจะปรากฏว่า ทุกคนต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้เสียและมียอดที่หักชำระไว้เกิน เราจะสามารถขอคืนภาษีได้ค่ะ โดยกด “ต้องการขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน” หรือเลือกเมนู “สอบถามการคืนภาษี” ค่ะ

เช็คเงินคืนภาษียังไง ?

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของสรรพากร (www.rd.go.th)
  2. เลือกเมนู “สอบถาม/ ส่งเอกสารคืนภาษี” 
  3. กด “My Tax Account”
  4. เข้าสู่ระบบ
  5. กด “ติดตามสถานะขอคืน/ นำส่งเอกสาร” 
  6. กด “เลือกเอกสารเพื่อนำส่ง” เพื่อส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเรียก
  7. ติดตามสถานะอย่างสม่ำเสมอผ่านเว็บไซต์ หรือข้อความโทรศัพท์

เงินคืนภาษีเข้าบัญชีไหน ?

  • บัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ผูกกับเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก
  • บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • เช็คสำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งสามารถนำไปขึ้นเงินกับสาขาธนาคารได้ค่ะ

ขอคืนภาษีกี่วันได้เงิน

หลังจากยื่นแบบและนำส่งเอกสารเพื่อพิจารณาคืนภาษีแล้ว หากผ่านขั้นตอนการพิจารณา ทุกคนก็จะได้รับเงินภาษีคืนภายใน 3 – 4 วันทำการค่ะ แต่กระบวนการที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน คือ การพิจารณาค่ะ เพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจมีการเรียกเอกสารหรือข้อมูลเพิ่มเติม และจำเป็นต้องรอคิวเจ้าหน้าที่ในการตรวจเอกสารค่ะ


7 เคล็ดลับทำให้ได้เงินภาษีคืนเร็วขึ้น !

จากประสบการณ์ของคุณน้า ขอแนะนำวิธีที่จะทำให้เงินภาษีเร็วยิ่งขึ้น จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

  1. เตรียมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหนังสือรับรองเงินเดือน, ใบทวิ 50 และหลักฐานการลดหย่อนทั้งหมด
  2. หากเอกสารไม่ครบ ให้รีบติดต่อสอบถามกับบริษัทที่จ่ายเงินให้เราเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมให้ครบ
  3. แปลงเอกสารให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ JPG, BMP, PNG, TIFF หรือ PDF ที่มีขนาดไฟล์ไม่เกิน 3 MB ทั้งหมดรวมกันต้องไม่เกิน 20 MB โดยตั้งชื่อให้ง่ายต่อการเรียกดู เช่น ใบทวิ 50 20-01-2566_คุณน้าพาเทรด เป็นต้นค่ะ
  4. หากไฟล์เอกสารไหนมีการใส่รหัสเพื่อเข้าดู ให้แปลงเป็นไฟล์ปกติกันด้วยนะคะ
  5. ยื่นภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ต้องรอช่วงโค้งสุดท้าย เพราะจะทำให้ต้องรอคิวในการพิจารณานานค่ะ
  6. อัปโหลดไฟล์เอกสารได้เลยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่สรรพากรเรียก เพื่อเพิ่มความรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่หากเอกสารไม่ครบ เจ้าหน้าที่จะมีการร้องขอเพิ่มเติมค่ะ
  7. ผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชนเพื่อรับเงินคืนภาษีจะทำให้เราได้เงินเร็วขึ้นด้วยค่ะ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการขอคืนภาษี

จะรู้ได้ยังไงว่าได้เงินภาษีคืน ?

ทุกคนสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์สรรพากร > My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี > Login เข้าสู่ระบบ > ติดตามสถานะและส่งเอกสาร > สอบถามชื่อธนาคารที่นำเงินคืนภาษีเข้าบัญชีพร้อมเพย์

ได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่ เช็คยังไง ?

การจะรู้ว่าเราได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีไหม และมีรายการลดหย่อนหรือไม่ ซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดจะปรากฏตามที่เรายื่นแบบแล้วสรรพากรคำนวณมาให้เลยค่ะ โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษีค่ะ

ขอคืนภาษีย้อนหลังได้กี่ปี ?

หากตรวจสอบแล้วว่าตัวเองมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่ามูลค่าภาษีที่เราจะต้องจ่ายจริง สามารถขอคืนย้อนหลังได้ภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษีค่ะ

ขอคืนภาษีย้อนหลังทำยังไง ?

หากต้องการขอคืนภาษีย้อนหลังจำเป็นต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้นค่ะ โดยจะต้องนำเอกสารแสดงรายได้, ใบทวิ 50 ตลอดจนเอกสารแสดงการลดหย่อนต่าง ๆ ไปด้วยค่ะ

สรุป การขอคืนภาษี

ทุกคนเห็นแล้วใช่ไหมคะว่า การขอคืนภาษีนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพียงไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้นก็ทำให้เราได้เงินส่วนนี้คืน และสามารถนำไปใช้จ่ายหรือซื้อของที่อยากได้ได้แล้วค่ะ เพราะฉะนั้น หากมีเงินที่หักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่ามูลค่าภาษีที่เราจะต้องจ่ายก็อย่าลืมไปขอคืนกันนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : E-filing, กรมสรรพากร, ฐานเศรษฐกิจ และประชาชาติธุรกิจ

สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์อื่น ๆ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
5 โบรกเกอร์ Forex ไม่มีค่า Swap 2024
โบรกเกอร์ Forex ไม่มีค่า Swap (Free Swap) แห่งปี 2024

โบรกเกอร์ Forex ไม่มี ค่า Swap (Free Swap) แห่งปี 2024 จะมีโบรกเกอร์ไหนที่น่าสนใจบ้างนะ? ในวันนี้คุณน้าจะพาทุกคนไปรู้จัก 5 โบรกเกอร์ Forex Free Swap  ได้แก่ IUX, Octa, GMI Markets, FBS และ XM