รีไฟแนนซ์บ้าน VS ลดดอกเบี้ยบ้าน 2567

รีไฟแนนซ์ vs ลดดอกเบี้ยบ้าน 2567 แบบไหนคุ้มกว่ากัน?
Table of Contents

คำถามของคนอยากมีบ้านหลังแรกหลังจากขอสินเชื่อบ้านมาสักระยะแล้ว ก็คือ การรีไฟแนนซ์บ้าน VS ลดดอกเบี้ยบ้าน 2567 แบบไหนคุ้มกว่ากัน? ดังนั้น ในวันนี้คุณน้าจะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยกันค่ะ

ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบการรีไฟแนนซ์บ้านและการลดดอกเบี้ยบ้าน (รีเทนชัน) มาทำความรู้จักกับการขอสินเชื่อบ้านกันก่อน คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ


รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร?

รีไฟแนนซ์บ้านหรือ Refinance คือ การขอกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารใหม่ เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะได้ยอดผ่อนบ้านต่อเดือนลดลง เพราะเป็นเหมือนการขอกู้สินเชื่อบ้านใหม่ในช่วง 3 ปีแรก ทำให้ได้ดอกเบี้ยต่ำและเป็นดอกเบี้ยคงที่นั่นเองค่ะ

ทำไมผู้ขอกู้จึงชอบการรีไฟแนนซ์บ้าน?

เพราะปกติแล้ว การขอกู้สินเชื่อบ้านหลังจากช่วง 3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบลอยตัวค่ะ ทำให้ผู้กู้ต้องผ่อนชำระค่าบ้านสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหลาย ๆ คนอาจมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ทำให้การรีไฟแนนซ์บ้านกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในปัจจุบันหลายธนาคารจะ Fixed Rate อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3%-4% ต่อปีค่ะ

ข้อดี-ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์บ้าน

ข้อดี

  • อัตราดอกเบี้ยลดลง
  • ช่วยให้จัดการภาระหนี้สินได้ดีขึ้น
  • เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
  • ช่วยลดระยะเวลาในการผ่อนชำระบ้านลง
  • สามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยได้หลายธนาคาร

ข้อเสีย

  • มีค่าธรรมเนียมการโอนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจดจำนองหรือการประเมินราคา เป็นต้น


การลดดอกเบี้ยบ้าน คืออะไร?

การลดดอกเบี้ยบ้านหรือ Retention คือ การขอลดดอกเบี้ยจากธนาคารเดิม เมื่อผู้ขอกู้บ้านสามารถผ่อนชำระครบ 3 ปีแรก หลังจากนั้น ผู้ขอกู้จะสามารถต่อรองกับธนาคารเดิมเพื่อขอลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ค่ะ โดยปกติแล้ว ธนาคารจะพิจารณาการลดดอกเบี้ยจากลูกค้าที่มีเครดิตดี, มีประวัติการผ่อนชำระครบทุกงวดและไม่เคยล่าช้า

อย่างไรก็ดี การขอลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารเดิมจะลดดอกเบี้ยลงได้ไม่เยอะเท่ากับวิธีการรีไฟแนนซ์นะคะ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ดอกเบี้ยแบบลอยตัวจะอยู่ที่ราว ๆ 5%-7% จาก MRR ที่ลดลง -0.5% หรือ 1.0% ต่อปี

รู้หรือไม่? หากผู้กู้มีประวัติที่ดี จะสามารถรีเทนชั่นได้ทุก 3 ปี

หากผู้ขอกู้บ้านมีประวัติในการผ่อนชำระที่ดีและไม่เคยชำระล่าช้า ธนาคารจะพิจารณาให้ผู้ขอกู้สามารถขอลดดอกเบี้ยบ้านได้ทุก 3 ปี ยกเว้นก็แต่วงเงินการชำระคงเหลือต่ำกว่า 1,000,000 บาท บางธนาคารอาจไม่สามารถรีเทนชั่นได้ค่ะ ทั้งนี้ ผู้ขอกู้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กับธนาคารที่เดิม


ข้อดี-ข้อเสียของการลดดอกเบี้ยบ้าน

ข้อดี

  • ประหยัดเวลาในการดำเนินเรื่อง เพราะใช้เอกสารชุดเดิมได้
  • ค่าธรรมเนียมถูก อยู่ที่ประมาณ 1.0%-2.0% ต่อปี
  • ระยะเวลาการอนุมัติรวดเร็ว ประมาณ 7 วันทำการ
  • ไม่ติดเครดิตบูโร

ข้อเสีย

  • การขอลดอัตราดอกเบี้ยจะลดได้น้อยกว่าการรีไฟแนนซ์บ้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารเป็นผู้กำหนด


รีไฟแนนซ์บ้าน VS ลดดอกเบี้ยบ้าน 2567 แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า การรีไฟแนนซ์บ้านและการลดดอกเบี้ยบ้านมีความแตกต่างกันค่ะ แล้วอย่างนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ลักษณะนี้ แบบไหนคุ้มกว่ากัน? ในบทความนี้ คุณน้าขอยกตัวอย่าง 5 ข้อแตกต่างสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมี 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้

  1. อัตราดอกเบี้ย
  2. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม
  3. รายละเอียดและเงื่อนไขเอกสารการผ่อนชำระบ้าน
  4. ระยะเวลาการผ่อนชำระ
  5. ผลกระทบต่อเครดิต

ตารางเปรียบเทียบการรีไฟแนนซ์ VS ลดดอกเบี้ยบ้าน 2567

1. อัตราดอกเบี้ย ⭐

ถ้าเทียบอัตราดอกเบี้ย คุณน้าขอบอกว่า รีไฟแนนซ์บ้านจะคุ้มกว่าการลดดอกเบี้ยบ้านค่ะ ซึ่งคุณน้าขอยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันนี้คุณเหลือภาระหนี้สินอยู่ที่ 3,000,000 บาท หลังจากผ่อนมาแล้ว 3 ปี โดยเหลือระยะเวลาผ่อนชำระอยู่ 25 ปี และอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 6.75% ต้องชำระสินเชื่อบ้านเท่ากับ 22,700 บาท ต่อเดือน (สามารถคำนวณด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้ที่หน้าคำนวณสินเชื่อของธนาคาร เช่น ธอส.)

  • หากขอลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารเดิม อย่างมากผู้ขอกู้จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 5.0% ต่อปี จะต้องชำระสินเชื่อบ้านเท่ากับ 19,400 บาท ต่อเดือน
  • หากขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ โดยปกติแล้ว ผู้ขอกู้จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 3.0% ต่อปี จะต้องชำระสินเชื่อบ้านเท่ากับ 15,900 บาท ต่อเดือน

ดังนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า การขอรีไฟแนนซ์บ้านจะถูกกว่าค่ะ

2. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ⭐

สำหรับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมของการรีไฟแนนซ์และการขอลดดอกเบี้ยบ้านจะมีความแตกต่างกัน ตามตารางด้านล่าง ดังนี้

การรีไฟแนนซ์ VS การลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน เมื่อครบ 3 ปี
ค่าธรรมเนียมการรีไฟแนนซ์การลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน
1. ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนก่อนกำหนดไม่เกิน 3.0%1. ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 1.0%-2.0% 
2. ค่าธรรมเนียมการประเมินราคาไม่เกิน 3.0%
3. ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ประมาณ 1.0%
4. ค่าอากรแสตมป์ไม่เกิน 3.0%
5. ค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้ไม่เกิน 3.0%
6. ค่าประกันอัคคีภัย
7. ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า ค่าธรรมเนียมการรีไฟแนนซ์จะค่อนข้างสูงกว่าการลดดอกเบี้ยบ้านค่ะ ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกการรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชั่น ผู้ขอกู้ควรศึกษาเงื่อนไขและข้อจำกัดของตนเองก่อนนะคะ

  • หากคุณเหลือยอดผ่อนชำระบ้านต่ำกว่า 1,000,000 บาท คุณน้าแนะนำการลดดอกเบี้ยบ้าน (รีเทนชั่น) มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงไม่มาก แต่เมื่อเทียบเรื่องค่าธรรมเนียมแล้วค่อนข้างคุ้มค่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงค่ะ
  • หากคุณเพิ่งเริ่มผ่อนชำระบ้านหลัง 3 ปีแรก และมียอดผ่อนชำระเกิน 1,000,000 บาท คุณน้าแนะนำการรีไฟแนนซ์จะคุ้มค่ามากกว่า เพราะคุณยังเหลือระยะเวลาในการผ่อนชำระค่อนข้างมาก ทำให้คุณมีโอกาสในการเลือกธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยที่คุ้มค่าที่สุดนั่นเอง

3. รายละเอียดและเงื่อนไขการยื่นเอกสารการผ่อนชำระบ้าน ⭐

3.1 การรีไฟแนนซ์ 

เอกสารการรีไฟแนนซ์บ้านจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ซึ่งผู้ขอกู้จะต้องยื่นเรื่องกับธนาคารใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เอกสารส่วนบุคคล

  • บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
  • สำเนาทะเบียนสมรส/ใบหย่า/ใบมรณบัตร
  • สำเนาเปลี่ยนชื่อ-สกุล กรณีเปลี่ยนชื่อใหม่ (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)

เอกสารทางการเงิน

  • สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
  • ใบรับรองเงินเดือน
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้

เอกสารหลักประกัน

  • สำเนาโฉนดที่ดิน/หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด/เจ้าของอาคารที่ใช้เป็นหลักประกัน
  • ภาพถ่ายเพื่อแสดงสิทธิหลักประกัน

เอกสารจากธนาคารเดิม

  • สำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมหรือการจำนองหลักทรัพย์
  • Bank Statement

*หมายเหตุ : การขอเอกสารจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารเป็นผู้กำหนด ซึ่งผู้ขอกู้ยืมควรอ่านเงื่อนไขและรายละเอียดให้ดี ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้านค่ะ

3.2 การลดดอกเบี้ยลง (รีเทนชั่น)

รายละเอียดการขอเอกสารสำหรับรีเทนชั่น มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ 

  • บัตรประชาชนตัวจริงและสำเนาของผู้กู้
  • สัญญาเงินกู้ 
  • ทะเบียนบ้านตัวจริงและสำเนาของผู้กู้

4. ระยะเวลาการผ่อนชำระ ⭐

สำหรับระยะเวลาการผ่อนชำระในการรีไฟแนนซ์และการลดอัตราดอกเบี้ย (รีเทนชั่น) จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ธนาคารเป็นผู้กำหนด ซึ่งปกติแล้วการผ่อนชำระบ้านจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ไม่เกิน 40 ปี แต่การขอรีไฟแนนซ์หรือการรีเทนชั่นควรทำหลังจากผ่อนชำระบ้านไปแล้ว 3 ปีค่ะ

5. ผลกระทบต่อเครดิต ⭐

การรีไฟแนนซ์อาจส่งผลกระทบต่อเครดิตในระยะสั้น เนื่องจากเป็นเหมือนการสมัครขอสินเชื่อบ้านใหม่นั่นเอง ส่วนการรีเทนชั่นมีผลกระทบด้านเครดิตน้อยกว่า เพราะไม่ได้เป็นการเปิดบัญชีหรือขอสินเชื่อใหม่ โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเครดิตบูโรได้ที่เว็บไซต์บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติได้เลยค่ะ


การรีไฟแนนซ์และการลดดอกเบี้ยบ้านเหมาะกับใคร?

การรีไฟแนนซ์

  • เหมาะกับผู้ขอกู้ที่ยังเหลือยอดเงินกู้มากกว่า 1,000,000 บาท
  • เหมาะกับผู้ต้องการปรับสภาพคล่องทางการเงิน
  • เหมาะกับผู้ที่ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์

การลดดอกเบี้ยบ้าน

  • เหมาะกับผู้ขอกู้ที่ยังเหลือยอดเงินกู้น้อยกว่า 1,000,000 บาท
  • เหมาะกับผู้ที่มีเครดิตหรือประวัติการชำระเงินที่ดีกับธนาคาร
  • เหมาะกับผู้ที่มีรายได้มั่นคง


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการกู้ผ่อนชำระบ้าน 2567

รีไฟแนนซ์ VS รีเทนชั่น แบบไหนดีกว่า?

การรีไฟแนนซ์ VS รีเทนชั่น ไม่มีแบบไหนที่ดีกว่ากันค่ะ เพราะขึ้นอยู่กับการวางแผน สำหรับการผ่อนชำระบ้าน หากยอดกู้บ้านมากกว่า 1,000,000 บาท แนะนำให้รีไฟแนนซ์บ้านดีกว่า เพราะสามารถได้รับดอกเบี้ยที่ลดลง อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารได้อีกด้วย แต่สำหรับใครที่ยอดกู้บ้านเหลือน้อยกว่า 1,000,000 บาท แนะนำให้รีเทนชั่น เพราะค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าการรีไฟแนนซ์ อีกทั้งยังใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 7 วันทำการ

รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร?

รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การขอกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารใหม่ เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพราะการรีไฟแนนซ์บ้านเป็นเหมือนการขอกู้สินเชื่อบ้านใหม่ ทำให้ได้อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 3 ปีแรก

การรีเทนชั่น คืออะไร?

การรีเทนชั่น คือ การขอลดดอกเบี้ยจากธนาคารเดิม เมื่อผู้ขอกู้ผ่อนชำระครบ 3 ปีแรก ก็จะสามารถต่อรองกับธนาคารเดิม เพื่อขอลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้


สรุปการรีไฟแนนซ์ VS การลดดอกเบี้ยบ้าน 2567

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า การรีไฟแนนซ์บ้านและการลดดอกเบี้ยบ้านมีคุณสมบัติ ข้อดี และข้อจำกัดที่แตกต่างกันค่ะ ซึ่งคุณน้าไม่สามารถบอกได้ว่า การกู้แบบไหนถึงคุ้มค่ากว่ากันค่ะเพราะตัวผู้ขอกู้บ้านควรศึกษาเงื่อนไขและตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นรายได้ต่อเดือนหรือภาระหนี้สินอื่น ๆ เพื่อพิจารณาว่า ตนเองเหมาะกับการผ่อนชำระบ้านแบบไหนมากที่สุด และที่สำคัญ อย่าลืมบริหารการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียในภายภาคหน้านะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงานคุณน้าพาเทรดค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : GBank, CIMB THAI, Refinn และแสนสิริ


สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
5 โบรกเกอร์ Forex ไม่มีค่า Swap 2024
โบรกเกอร์ Forex ไม่มีค่า Swap (Free Swap) แห่งปี 2024

โบรกเกอร์ Forex ไม่มี ค่า Swap (Free Swap) แห่งปี 2024 จะมีโบรกเกอร์ไหนที่น่าสนใจบ้างนะ? ในวันนี้คุณน้าจะพาทุกคนไปรู้จัก 5 โบรกเกอร์ Forex Free Swap  ได้แก่ IUX, Octa, GMI Markets, FBS และ XM