เครดิตบูโร คืออะไร? ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่!

เครดิตบูโร (Credit Bureau) คืออะไร? ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่
Table of Contents

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเวลาที่เราขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงินแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นเพราะการติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรหรือเปล่า? เนื่องจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้กับข่าว COWAY ติดเครดิตบูโร ถือเป็นประเด็นที่ร้อนระอุบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมากค่ะ

ในวันนี้คุณน้าจะพาทุกคนมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเครดิตบูโร (Credit Bureau) คืออะไรกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย!


บทความเกี่ยวกับวางแผนการลงทุนเพิ่มเติม : 


เครดิตบูโร คืออะไร?

เครดิตบูโร คืออะไร

เครดิตบูโร (Credit Bureau) คือ ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตจากสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ที่คุณทำการขอสินเชื่อไว้ค่ะ ซึ่งข้อมูลนี้จะเก็บรวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อรถยนต์,ประวัติการผ่อนชำระทรัพย์สินอื่น หรือแม้แต่ข้อมูลบัตรเครดิตทั้งหมดของคุณ เครดิตบูโรก็สามารถเช็กได้หมดค่ะ


ข้อมูลในเครดิตบูโร ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

  • ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานภาพ, อาชีพ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
  • ข้อมูลที่อยู่
  • ข้อมูลการสมัครขอสินเชื่อต่าง ๆ 
  • ประวัติการชำระหนี้
  • ข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเงินต่าง ๆ 
  • ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต

ทำไมคุณถึงควรเช็กเครดิตบูโร? 

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมคุณถึงควรเช็กเครดิตบูโร? แล้วถ้าไม่เช็กล่ะจะขอสินเชื่อผ่านหรือไม่? คุณน้าขอบอกว่า การเช็กเครดิตบูโรจะช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบได้ว่า ในปัจจุบันคุณมีภาระหนี้สินอยู่เท่าไหร่และคุณมีประวัติหนี้เสียหรือไม่ 

ซึ่งข้อมูลในเครดิตบูโรถือได้ว่า มีความสำคัญกับการทำธุรกรรมของคุณเป็นอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะกับการขอสินเชื่อ, การทำบัตรเครดิตหรือการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินอื่น ๆ เพราะเครดิตบูโรจะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในการสร้างและชำระหนี้ของคุณ รวมทั้งเป็นการตรวจสอบเครดิตขอคุณว่า ดีพอในการขอสินเชื่อครั้งต่อ ๆ ไปหรือไม่นั่นเองค่ะ

ซึ่งคุณน้าได้รวบรวม 3 เหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรเช็กเครดิตบูโร ดังนี้ค่ะ

1. เพื่อวางแผนก่อนสร้างหนี้ใหม่ 

สำหรับปัญหาหลัก ๆ ของการสร้างหนี้สิน คือ หลาย ๆ คนไม่รู้ว่าตอนนี้จ่ายหนี้ครบหรือยัง ทำให้เมื่อต้องการกู้ยืมเพิ่มเติมกลายเป็นว่า หนี้เก่ายังโปะไม่หมด หนี้ใหม่ตามมาอีกแล้ว ดังนั้น การเช็กเครดิตบูโรก่อนการสร้างหนี้ใหม่จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังไม่เสี่ยงเป็นหนี้จนเกินตัวนั่นเอง

2. เพื่อตรวจสอบโอกาสในการขอสินเชื่อผ่านหรือไม่

การเช็กเครดิตบูโรไม่เพียงแค่ตรวจสอบประวัติสินเชื่อของคุณเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบเครดิตสกอริ่งได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งจะตรวจสอบได้ว่าคุณมีโอกาสในการผ่านการขอสินเชื่อครั้งต่อไปหรือไม่?

⭐ Tip เครดิตสกอริ่งคืออะไร? 

เครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) คือ คะแนนเครดิตที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือทางการเงินของบุคคล ซึ่งสถาบันทางการเงินจะใช้เครดิตประกอบกับการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งในประเทศไทยได้แบ่งเครดิตสกอริ่งออกเป็น 8 ระดับ ดังนี้

  • คะแนน 753-900 : ระดับความเสี่ยง AA
  • คะแนน 725-752 : ระดับความเสี่ยง BB
  • คะแนน 699-724 : ระดับความเสี่ยง CC
  • คะแนน 681-698 : ระดับความเสี่ยง DD
  • คะแนน 666-680 : ระดับความเสี่ยง EE
  • คะแนน 646-665 : ระดับความเสี่ยง FF
  • คะแนน 616-645 : ระดับความเสี่ยง GG
  • คะแนน 300-615 : ระดับความเสี่ยง HH

3. เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการชำระสินเชื่อ 

การตรวจสอบความถูกต้องของการชำระสินเชื่อจะช่วยให้คุณสามารถเช็กได้ว่า ข้อมูลที่ทางสถาบันทางการเงินได้ส่งข้อมูลเข้าไปยังเครดิตบูโรถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ เพราะมีหลายครั้งที่เกิดกรณีที่ว่า เจ้าหน้าที่ทางการเงินกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ลูกค้ามีคะแนนเครดิตบูโรต่ำลง ซึ่งเสี่ยงต่อการขอสินเชื่อในอนาคตได้ค่ะ

ตัวอย่างเหตุการณ์ COWAY ติดเครดิตบูโร ปี 2024

ตัวอย่างเหตุการณ์ COWAY ติดเครดิตบูโร ปี 2024

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานมานี้ กับกรณีที่ลูกค้าบริษัทเครื่องกรองน้ำและเครื่องฟอกอากาศ COWAY ประสบปัญหาการติดเครดิตบูโรโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการทำงานที่ผิดพลาดของทางบริษัท เนื่องจาก COWAY ได้ส่งชื่อลูกค้าที่ผิดยอดนัดชำระเข้าระบบเครดิตบูโร โดยไม่แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า ทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวติดสถานะเครดิตบูโรล่าช้า ประกอบกับลูกค้าบางรายที่ไม่ได้ผิดยอดค้างชำระมีคะแนนเครดิตบูโรลดลง เนื่องจากระบบของบริษัท COWAY เกิดข้อผิดพลาด 

และการที่ระบบเกิดข้อผิดพลาด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเก็บค่าบริการของลูกค้า โดยลูกค้าที่ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้เอง ได้ออกมาร้องเรียนบนโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดเป็นข้อถกเถียงจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง ทางบริษัท COWAY ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงและแก้ไขปัญหาด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ทำให้ทางเครดิตบูโรได้ลบข้อมูลลูกค้าทั้งหมดของ COWAY ออกจากระบบ ซึ่งลูกค้าที่เคยขึ้นสถานะติดเครดิตบูโรทั้งหมดเลยไม่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท COWAY ได้ส่งข้อมูลไปก่อนหน้านั้น

📢 คำแนะนำจากคุณน้า

จากเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเช็กสถานะเครดิตบูโรถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังเหตุการณ์ของบริษัท COWAY คุณควรเช็กเครดิตบูโรในทุก ๆ 1 ปีค่ะ โดยคุณน้าขอแนะนำวิธีการอ่านสถานะของเครดิตบูโร ดังนี้

วิธีการอ่านสถานะของเครดิตบูโร

ตัวเลขความหมายของสถานะ
10ปกติ 
(ไม่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน)
11สถานะปิดบัญชี
(ชำระหนี้ครบตามสัญญา)
12พักชำระหนี้ตามนโยบายของสมาชิก
20หนี้ค้างชำระนานเกินกว่า 90 วัน
21หนี้ค้างชำระนานเกินกว่า 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่ปกติ
30อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย
31อยู่ระหว่างชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม
32ศาลยกฟ้องเนื่องจากคดีขาดความหรือเหตุอื่นเว้นแต่หนี้สินไม่ได้มีอยู่จริง
33ปิดบัญชี เนื่องจากการตัดหนี้สูญ 
(กรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด และสมาชิกตัดหนี้สูญ โดยไม่ตัดสินใจทวงถามอีกต่อไป)
40อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี 
41อยู่ระหว่างตรวจสอบรายการ
42โอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน 
(กรณีสมาชิกโอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระให้แก่บุคคลอื่น)
43โอนหรือขายหนี้และชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว
(กรณีสมาชิกโอนหรือขายหนี้ไปยังบุคคลอื่น และได้มีการชำระหนี้สิ้นให้แก่ผู้รับดอนเรียบร้อยแล้ว)
44โอนหรือขายหนี้ที่มีสถานะบัญชีปกติ
(กรณีที่สมาชิกโอนหรือขายหนี้ที่ไม่ค้างชำระไปยังบุคคลอื่น)

ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่?

หลาย ๆ คนชอบพูดกันว่า การติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ทำให้กู้สินเชื่อไม่ผ่าน ในกรณีนี้คุณน้าขอบอกว่า ไม่จริงค่ะ จากการอ้างอิงของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรไม่ได้จัดทำเพื่อขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์กับใคร ซึ่งในระบบไม่ได้มีข้อมูลของการขึ้นแบล็กลิสต์แต่อย่างใดค่ะ

โดยปกติแล้ว เครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลตามความเป็นจริง หากคุณชำระหนี้สินแล้ว ทางระบบจะขึ้น “ปกติ” หรือ “ไม่ค้างชำระ” แต่หากยังไม่จ่ายหนี้สิน ทางระบบจะขึ้น ”ค้างชำระ” ไม่ว่าคุณจะชำระตรงตามกำหนดหรือไม่ รวมทั้งหากเคลียร์บัญชีหรือปิดบัญชีเรียบร้อยแล้วนั้น ทางระบบก็จะขึ้นตามนั้น เพียงแต่ยังไม่มีการลบข้อมูลใด ๆ ออก เนื่องจากมีการบังคับใช้ตามกฎหมายว่า ระบบจะทำการลบข้อมูลให้ในระยะเวลา 3 ปี หรือ 36 เดือน นับจากวันที่ได้รับรายงานจากสมาชิก 

ดังนั้น เครดิตบูโรไม่ได้เป็นตัวตัดสินการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อทั้งหมดค่ะ เพราะก่อนที่จะมีการขอสินเชื่อใด ๆ สถาบันการเงินจะมีเกณฑ์การพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รายได้, ความสามารถในการชำระหนี้คืน, อายุ, อาชีพ และหลักประกัน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินค่ะ


3 วิธีแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโรทำได้ยังไง?

3 วิธีแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโรทำได้ยังไง

คุณน้าจะขอแนะนำ 3 วิธีการแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโร เพื่อให้คุณสามารถทำตามได้ด้วยตนเองง่าย ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้อง

ขั้นตอนแรก คือ ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้องค่ะ หากข้อมูลเครดิตของคุณไม่ถูกต้องหรือเกิดข้อผิดพลาดบางอย่างให้คุณแจ้งไปที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อยื่นสิทธิขอตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลของตนเองกับเครดิตบูโรได้

และเมื่อได้รับการแจ้งผลตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว คุณยังไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบสามารถยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองเครดิตได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งสิทธิค่ะ

2. วางแผนชำระหนี้เก่าให้ครบถ้วน

หลังจากที่คุณตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้องแล้วนั้น ขั้นตอนต่อมา คือ คุณควรชำระหนี้สินเก่าให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้ติดเครดิตบูโรค่ะ โดยคุณน้าขอแนะนำวิธีการชำระหนี้เก่าให้ครบถ้วน ดังนี้

  • ชำระหนี้สินจำนวนน้อยก่อน โดยติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเจรจาต่อรอง สำหรับการผ่อนชำระหรือลดหย่อนหนี้
  • กรณีมีหนี้สินหลายก้อน ให้คุณลองพิจารณาการรีไฟแนนซ์หรือรวมหนี้สินเป็นก้อนเดียว เพื่อให้การบริหารจัดการสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • จัดทำแผนการชำระหนี้ โดยกำหนดเป้าหมายการชำระหนี้สินในแต่ละก้อน
  • หมั่นติดตามและควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อลดโอกาสในการสร้างหนี้สินใหม่

3. สร้างวินัยทางการเงิน

และขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการแก้ไขปัญหาเครดิตบูโร คือ การสร้างวินัยทางการเงินค่ะ เพื่อไม่ให้สร้างเครดิตที่ไม่ดี คุณควรชำระค่างวดให้ตรงทุกงวดและพยายามรักษาจำนวนหนี้คงค้างให้ต่ำที่สุด โดยปกติแล้ว ข้อมูลเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลไม่เกิน 3 ปีค่ะ ดังนั้น คุณควรชำระหนี้เก่าครบถ้วนก่อน จากนั้นข้อมูลติดเครดิตบูโรของคุณจะหายไปหลังจากนั้น 1 เดือน และสิ่งสำคัญก็คือ คุณควรหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสียให้ได้มากที่สุดและควรชำระหนี้สินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีนั่นเองค่ะ

ตรวจสอบเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง?

ในปัจจุบันคุณสามารถตรวจสอบเครดิตบูโรด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ เลยค่ะ โดยสามารถเลือกใช้บริการได้ ดังนี้

1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร

ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรมีทั้งหมด 4 สาขา ดังนี้

  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา)
  • เครดิตบูโรคาเฟ่ – อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น 3 (โซนธนาคาร) (BTS อารีย์ ทางออก 1)
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) 
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1 

คุณสามารถเข้าไปตรวจเครดิตบูโรได้โดยหลักฐานที่ต้องเตรียมนั่นก็คือ บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงนำมาแสดงค่ะ 

2. ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile banking

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile banking โดยธนาคารจะส่งรายงานเครดิตบูโรให้ผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านไปรษณีย์ ซึ่ง Mobile banking ที่ให้บริการ มีดังนี้ 

  • Bualuang mBanking
  • MyMo
  • Krungthai NEXT
  • ttb touch
  • KKP Mobile

3. ตรวจเครดิตบูโรผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยได้ทุกสาขา โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ซึ่งอัตราค่าบริการผ่านที่ทำการไปรษณีย์จะอยู่ที่ 150 บาทค่ะ

4. ตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร

คุณสามารถตรวจบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารที่เข้าร่วม ณ สาขาใกล้บ้านได้เลยค่ะ โดยมี 4 ธนาคาร ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

5. ตรวจเครดิตบูโรผ่านตู้ ATM

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านตู้ ATM ได้ทั่วประเทศ โดยมีตู้ ATM ที่ให้บริการ ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์

6.ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Internet Banking

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่าน Internet Banking ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เลยค่ะ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเครดิตบูโร (Credit Bureau)

ข้อมูลเครดิตบูโร มีอะไรบ้าง?

  • ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานภาพ, อาชีพ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
  • ข้อมูลที่อยู่
  • ข้อมูลการสมัครขอสินเชื่อต่าง ๆ 
  • ประวัติการชำระหนี้
  • ข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเงินต่าง ๆ 
  • ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต

เครดิตบูโร มีอายุกี่ปี?

การจัดเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี หรือ 36 เดือน

สถานะเครดิตบูโร 40 คืออะไร?

สถานะเครดิตบูโร 40 คือ อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี 

สถานะเครดิตบูโร 42 คืออะไร?

สถานะเครดิตบูโร 42 คือ โอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน

ทำยังไงให้คะแนนเครดิตบูโรขึ้น?

คุณน้าขอแนะนำว่า คุณควรหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสียให้ได้มากที่สุดและควรชำระหนี้สินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีนั่นเองค่ะ


สรุป

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า ข้อมูลในเครดิตบูโรถือว่ามีความสำคัญต่อการทำธุรกรรมของคุณเป็นอย่างมากค่ะ เพราะเป็นหนึ่งในข้อมูลที่สถาบันทางการเงินจะขอดู เมื่อคุณต้องการขอสินเชื่อใด ๆ อย่างไรก็ตาม เครดิตบูโรไม่ได้เป็นข้อมูลที่ทำให้คุณติดแบล็กลิสต์ค่ะ เพราะการติดแบล็กลิสต์นั้น หมายความว่า คุณมีประวัติในการชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือมีหนี้เสียมากจนสถาบันทางการเงินเห็นว่า คุณไม่มีความสามารถในการชำระหนี้นั่นเองค่ะ 

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถทำธุรกรรมได้สำเร็จ คุณควรวางแผนทางการเงินให้ละเอียดและรอบคอบ เพื่อสร้างเครดิตที่ดีในอนาคตค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : NCB, ธนาคารแห่งประเทศไทย, Marketeer และ Krungsri Credit Cards


สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post