นักลงทุนต้องเคยผ่านคำว่า tapering เพียงคำเดียวสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตการลงทุนและชีวิตประจำวันได้เลยทันที มันคืออะไร ?
อย่างที่รู้กันๆ ตอนนี้ทางธนาคารกลางของสหรัฐได้มีการทำนโยบาย QE (Quantitative Easing) หรือการอัดฉีดเม็ดเงินอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็เพื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันการอัดฉีดเม็ดเงินก็ได้ส่งผลให้งบดุลของ FED ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
แล้วถ้างบดุลขยายตัวมาก ก็จะทำให้เศรษฐกิจและฐานะการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีวี่แววว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทยอยปรับลดเม็ดเงิน QE ลง เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อสถานะของ Fed เนื่องจากธนาคารกลางมีหน้าที่สร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เวลาที่มีการสื่อสารกับตลาดทุนเรื่อง QE จะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวมากสำหรับนักลงทุน
ดังนั้นการ Tapering จึงเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อตลาดหุ้น หากกล่าวง่ายๆ คือ เป็นการเตรียมส่งสัญญาณลดขนาดงบดุล ไม่ใช่เพียงลดขนาดการอัดฉีดเม็ดเงิน แต่ยังหมายรวมถึงการไม่ roll over พวก treasury และ mortgage-backed securities นั่นเอง
เวลาที่หลายประเทศเริ่มมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ บางประเทศเริ่มมีการกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือ หุ้นอาจจะไม่ได้ขึ้นแรงเหมือนอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต แม้ว่าวัคซีนมา เศรษฐกิจเปิด สายการบิน โรงแรมเปิด เห็นทีจะเป็นเพียงทฤษฎีแบบเก่า
กล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไม่ได้ขับเคลื่อนบนเศรษฐกิจแต่ขับเคลื่อนบนสภาพคล่อง เวลาที่อัดฉีดเงินเข้าไปทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร็วกว่าที่ประมาณการ นักลงทุนเองก็อดใจไม่ได้เริ่มคาดประมาณการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงก่อนปี 2566 หรือ Fed Tapering จะเร็วกว่า 2565
ย้อนความไปช่วงปี 2551-2556 ในสมัย Ben Bernanke (อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา) ได้ส่งสัญญาณ Tapering หรือลดขนาดงบดุล ซึ่ง ณ เวลานั้น KSecurities ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ค่าเงินของฝั่ง Emerging Market (มีประเทศไทยอยู่ในนั้น) เฉลี่ยของทุกประเทศพลิกกลับมาอ่อนค่ามากกว่า 10% ในคราวเดียว ตลาดหุ้นฝั่ง Emerging Market ลงเกือบ 10% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น ดอลลาร์แข็งค่าอย่างมีนัย ทองคำปรับตัวลง 2% ตลาดหุ้นอเมริกาลดลงประมาณ 3-5% ทำให้ต้องฉุกคิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า
หน่วยงานกำกับดูแลในหลายๆ ประเทศก็ได้เริ่มมีการออกมาพูดถึงในประเด็นนี้กันแล้ว อย่างเช่น ประเทศจีนที่ปัจจุบันเศรษฐกิจเติบโต 2.3% ในขณะที่ประเทศอื่นยังคงติดลบ เนื่องจากเป็นประเทศที่ประกาศล็อกดาวน์ก่อนและเปิดประเทศก่อน ก็ออกมาให้ tone down ตลาดว่า Fed จะลดปริมาณ QE เร็วขึ้น
ประธานธนาคารกลางสหรัฐเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีต รีบออกมาชี้แจง แต่ก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลคำตอบว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยากให้นักลงทุนจับตาให้ดี