คุณน้าเชื่อว่า เราต้องเคยได้ยินคำว่า “เงินบาทอ่อนค่า” หรือ “เงินบาทแข็งค่า” กันมาไม่มากก็น้อยนะคะ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจนั้นส่งผลให้ค่าเงินมีการปรับตัวขึ้นลงในแต่ละวัน จนส่งผลในตลาดการลงทุน โดยเฉพาะในตลาด Forex ของเรา เพราะการคำนึงถึงเงินอ่อนค่า และเงินแข็งค่า ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่น้อย
วันนี้เราจะมาดูกันบ้างว่า เงินแข็งค่า คืออะไร ปัจจัยที่ทำให้เงินแข็งค่า และในฐานะเทรดเดอร์หรือนักลงทุน เราควรลงทุนหรือรับมืออย่างไรในช่วงที่เงินแข็งค่า ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ
เงินแข็งค่าคืออะไร ?
“การแข็งค่าของสกุลเงิน” หรือที่เราเรียกกันว่า “ค่าเงินแข็งค่า” หมายถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสกุลเงินของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ โดยมักวัดจากการเพิ่มมูลค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนค่ะ
อย่างเช่น เงินบาทของเรา ที่เรามักจะเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
เช่น 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 35 บาทไทย ณ ปัจจุบัน (วันที่ 21 ธันวาคม 2566)
ซึ่งในบางครั้งที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าก็อาจจะเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36 บาท หรือ 37 บาทได้
ในทางกลับกัน ถ้าเงินบาทเป็นฝ่ายแข็งค่าแทน
1 ดอลลาร์สหรัฐก็อาจจะเป็น 34 บาท หรือ 33 บาทไทยได้เช่นกันค่ะ
โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อมูลค่าสกุลเงินของแต่ละประเทศ และสามารถส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เงินอ่อนค่า คืออะไร ? ทำไมเทรดเดอร์ควรให้ความสำคัญ
- อัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อสกุลเงินอย่างไร ?
- GDP คืออะไร ? ส่งผลต่อสกุลเงินอย่างไร ?
- Economic Cycle : วัฏจักรเศรษฐกิจ คืออะไร ?
- Dovish และ Hawkish คืออะไร ?
- Quantitative Easing : QE คืออะไร ?
สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เงินแข็งค่า
วันนี้คุณน้าจะยกสาเหตุและปัจจัยหลัก ๆ ที่มักส่งผลให้เงินแข็งค่ามาให้ดูกันค่ะ ซึ่งก็คือ
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมักจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการสกุลเงินของตนเพิ่มขึ้น และทำให้เงินแข็งค่าขึ้นนั่นเองค่ะ
อัตราเงินเฟ้อต่ำ
อัตราเงินเฟ้อต่ำสามารถเพิ่มมูลค่าของสกุลเงินได้โดยการรักษากำลังซื้อค่ะ เพราะถ้าหากเงินเฟ้อสูง แปลว่าเราต้องมีเงินมากขึ้นเพื่อซื้อของชิ้นเดิม นั่นทำให้สกุลเงินอ่อนค่าด้วยเช่นกัน
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ในประเทศที่ธนาคารกลางรักษาอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะดึงดูดเงินทุนต่างประเทศที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วยค่ะ เพราะหากนักลงทุนย้ายเงินทุนไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ความต้องการใช้สกุลเงินท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินนั้น ๆ ค่ะ
เสถียรภาพทางการเมือง
ประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มั่นคงและมีรัฐบาลที่ดี จะถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าสำหรับการลงทุนค่ะ เพราะนักลงทุนต่างชาติอาจต้องการถือสินทรัพย์ในสกุลเงินของประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น
ดุลการค้าที่ดี
เมื่อประเทศส่งออกมากกว่านำเข้า จะสะสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้ดีขึ้น โดยสิ่งนี้สามารถนำไปสู่การแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศได้ค่ะ
ความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น
การแข็งค่าของสกุลเงินหนึ่งอาจสัมพันธ์กับการอ่อนค่าของสกุลเงินหลักอื่น ๆ หากสภาพเศรษฐกิจของประเทศดูแข็งแกร่งกว่าคู่ค้า สกุลเงินของประเทศนั้นอาจแข็งค่าขึ้นค่ะ อย่างเช่นที่มีช่วงหนึ่งสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า จนทำให้คู่เงิน USDJPY สูงขึ้น หรือมองอีกมุมเหมือนสกุลเงินเยนอ่อนค่า ทั้ง ๆ ที่จริงเป็นเพราะว่าดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั่นเองค่ะ
การแทรกแซงของรัฐบาล
ธนาคารกลางสามารถมีอิทธิพลต่อค่าสกุลเงินผ่านเครื่องมือนโยบายการเงินต่าง ๆ ค่ะ (เราคงเห็นได้ชัดเลยกับ FED นั่นเอง) โดยเฉพาะเวลาที่มีการปรับดอกเบี้ยหรือนโยบายรับมือกับเงินเฟ้อ สิ่งต่าง ๆ นี้ล้วนส่งผลต่อสกุลเงินทั้งนั้นเลยค่ะ
ภาวะเศรษฐกิจโลก
ไม่ใช่แค่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศนะคะที่มีผลต่อสกุลเงิน เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในประเทศเศรษฐกิจหลักอาจส่งผลต่อค่าสกุลเงินด้วยเช่นกัน ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นอาจเห็นค่าเงินแข็งค่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังน่าเป็นห่วง (ดูได้จากช่วงโควิดนั่นเองค่ะ)
ข้อดี ข้อเสีย เมื่อเงินแข็งค่า
ข้อดีของการแข็งค่าของสกุลเงิน
ส่งผลให้ราคานำเข้าต่ำกว่าเดิม
ข้อดีหลักของการแข็งค่าของสกุลเงินคือทำให้ราคานำเข้าลดลงค่ะ เพราะเมื่อค่าเงินแข็งค่าขึ้น ราคาสินค้าและบริการนำเข้าก็จะลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่สามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่า
อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า
สกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นสามารถช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้โดยการลดต้นทุนของสินค้านำเข้าและวัตถุดิบค่ะ นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้านั่นเอง
กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
ผู้บริโภคในประเทศที่ค่าเงินแข็งค่า จะได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อซื้อสินค้าและบริการจากประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่าค่ะ สิ่งนี้สามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ดีเลยทีเดียว
ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่า
สกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงด้วย ทำให้รัฐบาลและธุรกิจกู้ยืมเงินจากทางสถาบันการเงินหรือธนาคารกลางได้ถูกกว่า สิ่งนี้สามารถกระตุ้นการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ข้อเสียของการแข็งค่าของสกุลเงิน
ผลกระทบเชิงลบต่อผู้ส่งออก
อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกอาจต้องเจอความท้าทายมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นค่ะ เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตกงานและปัญหาทางการเงินสำหรับบริษัทที่ต้องพึ่งการส่งออก ส่งผลกระทบไปต่อตัวเลขการว่างงานและเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วยค่ะ
ความสามารถในการแข่งขันลดลง
สกุลเงินที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องอาจกัดกร่อนความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศในตลาดโลก ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลทางการค้า
ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
สกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นอาจทำให้ประเทศมีราคาแพงขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติค่ะ ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงได้
แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
การแข็งค่าของสกุลเงินอย่างต่อเนื่องสามารถนำไปสู่แรงกดดันภาวะเงินฝืดได้โดยการลดราคาสินค้าและบริการนำเข้า แม้ว่าราคาที่ลดลงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ภาวะเงินฝืดอาจส่งผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เช่นกันค่ะ
ช่วงเงินแข็งค่า ควรลงทุนอย่างไรดี ?
ลงทุนในสินค้าหรือสินทรัพย์ที่ถูกลงเมื่อสกุลเงินแข็งค่า
แน่นอนว่าพอสกุลเงินแข็งค่า จะทำให้เรามีกำลังซื้อมากขึ้น ถ้าหากเรามีการลงทุน สำรองสกุลเงิน หรือว่าสินค้าที่สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าเดิม และเมื่อสกุลเงินเกิดการอ่อนค่าลง แปลว่าเราสามารถนำสินค้าหรือเทขายสกุลเงินในราคาที่สูงขึ้น ได้กำไรจากส่วนต่างนั่นเองค่ะ
รับข่าวสารและทำการวิเคราะห์
ติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ, นโยบายของธนาคารกลาง และเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เรากำลังสนใจลงทุน จากนั้นประเมินพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้อง ดูปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, การจ้างงาน และดุลการค้า เพื่อวัดความสมบูรณ์โดยรวมของเศรษฐกิจว่ามีความน่าลงทุนมากน้อยแค่ไหน
อย่าลืมใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อระบุแนวโน้ม แนวรับ และแนวต้าน ไว้ด้วยนะคะ ซึ่งสามารถเลือกใช้ Indicators ได้ตามที่เราถนัดเลย
กระจายความเสี่ยง, บริหารความเสี่ยง และป้องกันความเสี่ยง
กระจายการถือครองสกุลเงินเพื่อกระจายความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่อย่าลืมมีสกุลเงินผสมหรือคู่สกุลเงินในการซื้อขายที่ไม่มีความสัมพันธ์กันมากนักไว้ในพอร์ตด้วย เพราะถ้าหากเราถือแต่คู่สกุลเงินที่มีความสัมพันธ์กัน ข้อดีคือหากเราถือถูกหน้า (เช่น หน้า Sell หน้า Buy) ก็จะทำให้เราทำกำไรได้ในทุกสกุลเงินหรือสินทรัพย์ที่เราถือ แต่ถ้าหากว่าผิดทาง ก็อาจส่งผลเสียต่อพอร์ตเราได้มากเช่นกันค่ะ
เพราะฉะนั้นการถือสกุลเงินหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือสัมพันธ์กันต่ำ ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบของค่าเงินที่อ่อนค่าลงได้เช่นกันนะคะ
มีวินัย
เมื่อเราวางแผนด้านการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแค่การทำตามแผนและมีวินัยกับแผนที่เราคิดไว้ค่ะ สิ่งสำคัญเลยที่เทรดเดอร์หรือนักลงทุนมักจะมองข้ามหรือผิดพลาดกับมันก็คือการไม่ทำตามแผนและปล่อยให้อารมณ์หรือความกลัวเป็นใหญ่กว่าเหตุและผลค่ะ เพราะฉะนั้น การมีวินัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ๆ เลยค่ะ
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับเงินแข็งค่า
1.เงินแข็งค่า คืออะไร ?
เงินแข็งค่า คือ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าสกุลเงินของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ โดยมักวัดจากการเพิ่มมูลค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยน
2.ข้อดี ข้อเสีย เมื่อเงินแข็งค่า คืออะไร ?
ข้อดี
- ส่งผลให้ราคานำเข้าต่ำกว่าเดิม
- อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า
- กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
- ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่า
ข้อเสีย
- ผลกระทบเชิงลบต่อผู้ส่งออก
- ความสามารถในการแข่งขันลดลง
- ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
- แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
3.เทรดเดอร์หรือนักลงทุนควรทำอย่างไรในช่วงเงินแข็งค่า ?
- ศึกษาข้อมูลและข่าวสาร
- กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
- ศึกษาสินทรัพย์ปลอดภัย
- ดูว่าคู่สกุลเงินหรือสินทรัพย์ใดได้ผลประโยชน์เมื่อสกุลเงินแข็งค่า
- บริหารเงินลงทุน
สรุปเงินแข็งค่าคืออะไร ?
เงินแข็งค่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถการันตีได้ว่า ประเทศเจ้าของสกุลเงินนั้นกำลังมีเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ในประเทศที่ดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยหลากหลายในเชิงบวกที่สามารถส่งผลต่อสกุลเงินให้แข็งค่าขึ้นได้
และถ้าหากเงินแข็งค่าก็จะทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในประเทศได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ถึงแม้ว่าเงินจะแข็งค่าขึ้นแล้ว ก็อย่าลืมติดตามข่าวสารหรือปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อราคาสกุลเงินไว้ด้วยนะคะ เพราะสามารถผันผวนได้เสมอ
คุณน้าหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเงินอ่อนค่าและเงินแข็งค่าได้ไม่มากก็น้อยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Investopedia
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge