FOREX 101 : เงินอ่อนค่า คืออะไร ? เวลาค่าเงินอ่อนทำไมสำคัญ ?

ค่าเงิน US เงินอ่อนค่า
Table of Contents

คุณน้าเชื่อว่า เราทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า เงินบาทอ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า กันมาเป็นประจำเลยใช่มั้ยคะ เพราะราคาของค่าเงินแต่ละตัวนั้นจะมีการผันผวนขึ้นลงเป็นธรรมดา

หนึ่งสิ่งที่เทรดเดอร์ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ ค่าเงินของแต่ละประเทศค่ะ เพราะ Forex เป็นตลาดที่เก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาอยู่แล้ว อย่างเช่น เวลาที่เราจะถอนเงิน เราก็คงต้องเลือกดูเวลาที่ 1 USD แลกได้เงินบาทไทยมากที่สุด จะได้คุ้มใช่มั้ยล่ะคะ

คุณน้าพาทุกคนรู้จักเงินอ่อนค่า

ค่าเงินอ่อน คืออะไร ? เงินอ่อนค่า คืออะไร ?

เงินอ่อนค่าคืออะไร

“การอ่อนค่าของสกุลเงิน” หรือที่เราเรียกกันว่า “ค่าเงินอ่อนค่า” หมายถึงการลดลงของมูลค่าสกุลเงินของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ โดยมักวัดจากการลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนค่ะ

อย่างเช่น เงินบาทของเรา ที่เรามักจะเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
เช่น 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 35.6 บาทไทย ณ ปัจจุบัน (วันที่ 12 ธันวาคม 2566)
ซึ่งในบางครั้งที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ก็อาจจะเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36 บาท หรือ 37 บาทได้

ในทางกลับกัน ถ้าเงินบาทแข็งค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะเหลือ 34 บาท หรือ 33 บาทไทยได้เช่นกันค่ะ

โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อมูลค่าสกุลเงินของแต่ละประเทศ และสามารถส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงได้เช่นกัน


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เงินอ่อนค่า

วันนี้คุณน้าจะยกสาเหตุและปัจจัยหลัก ๆ ที่มักส่งผลให้เงินอ่อนค่ามาให้ดูกันค่ะ ซึ่งก็คือ


เงินเฟ้อ

เงินอ่อนค่าเพราะเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศนั้น ๆ อาจนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินได้ โดยเฉพาะเมื่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น นั่นแปลว่าเราต้องมีเงินมากขึ้นเพื่อที่จะซื้อของได้ แบบนี้ก็จะส่งผลให้กำลังซื้อของสกุลเงินลดลง ทำให้มีมูลค่าน้อยลงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั่นเองค่ะ


อัตราดอกเบี้ย

เงินอ่อนค่าเพราะอัตราดอกเบี้ย

การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสกุลเงินด้วยเช่นกันค่ะ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมักจะดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือพูดง่าย ๆ คือนักลงทุนจะแห่เข้ามาลงทุนในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยตอบแทนสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การแข็งค่าของสกุลเงินได้ ในทางกลับกัน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจทำให้สกุลเงินอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเทรดเดอร์หรือนักลงทุนจึงมักจับตาดูนโยบายดอกเบี้ยจาก FED เป็นประจำนั่นเองค่ะ


ความไม่สมดุลทางการค้า

เงินอ่อนค่าเพราะความไม่สมดุลทางการค้า

การขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง (การนำเข้ามากกว่าการส่งออก) สามารถสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินให้อ่อนค่าลงได้เช่นกันค่ะ เพราะจะสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศนั่นเอง และเจ้าความไม่สมดุลทางการค้านี้ ก็อาจส่งผลให้ความต้องการสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของสกุลเงินในประเทศลดลง


เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เงินอ่อนค่าเพราะเศรษฐกิจ

ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือการขาดความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอาจส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลงได้ค่ะ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นจะเลือกลงทุนในประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมือง เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดนั่นเอง และจะต้องเลือกลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ


การเก็งกำไร

การเก็งกำไรทำให้เงินอ่อนค่า

หากนักลงทุนคาดการณ์ว่าสกุลเงินจะอ่อนค่าลงในอนาคต พวกเขาอาจมีการเทขายสกุลเงินนั้นในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลง ซึ่งมุมนี้เราอาจจะมองว่าเป็นการเทขายทำกำไรของ “เจ้า” แบบที่เราชอบพูดกันก็ได้ค่ะ ซึ่งการเทขายทำกำไร หรือการกว้านซื้อถ้าหากมองว่าสกุลเงินนั้นมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น ก็สามารถสร้างความผันผวนให้แก่ค่าเงินในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งผลต่อเทรดเดอร์ในตลาด Forex เป็นหลักเลยค่ะ


หนี้รัฐบาล

หนี้รัฐบาลทำเงินอ่อนค่า

หนี้รัฐบาลในระดับสูงเมื่อเทียบกับ GDP อาจนำไปสู่ความกังวลและความไม่ไว้ใจในด้านเศรษฐกิจประเทศได้ค่ะ ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียความเชื่อมั่นในสกุลเงินและส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลงได้


ข้อดี – ข้อเสีย เมื่อเงินอ่อนค่า



ส่งเสริมการส่งออก ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

สกุลเงินที่อ่อนค่าลงสามารถทำให้การส่งออกของประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศจะมีราคาถูกกว่าสำหรับผู้ซื้อจากต่างประเทศนั่นเองค่ะ เนื่องจากสินค้าจะมีราคาไม่แพงสำหรับผู้บริโภคชาวต่างชาติ และสามารถเป็นหนึ่งในสิ่งที่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่งเสริมการท่องเที่ยว

สกุลเงินที่อ่อนค่าลงสามารถทำให้ประเทศเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น อุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวอาจมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการมีราคาไม่แพงสำหรับชาวต่างชาติ ถ้าจะให้คุณน้ายกตัวอย่างก็คงจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยว ซึ่งเงินเยนอ่อนค่าเป็นปกติ แต่ก็เป็นผลดีต่อประเทศค่ะ

การชำระหนี้

สำหรับประเทศที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก สกุลเงินที่อ่อนค่าลงจะทำให้สามารถชำระหนี้ภายนอกโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดภาระหนี้โดยรวมได้ค่ะ

ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ

การอ่อนค่าของสกุลเงินสามารถทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดโดยอาจเพิ่มราคานำเข้า สิ่งนี้สามารถช่วยป้องกันหรือบรรเทาภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เผชิญกับราคาซบเซาหรือลดลง


ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น

การที่เงินอ่อนค่าลงอาจส่งผลให้ราคานำเข้าสูงขึ้นค่ะ โดยทำให้สินค้านำเข้าและวัตถุดิบมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้

ความสามารถในการจับจ่ายซื้อขายลดลง

การที่เงินอ่อนค่า แน่นอนว่าเราจะต้องซื้อสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น อาจส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพของบุคคลและครัวเรือนลดลงค่ะ

แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

แม้ว่าค่าเงินอ่อนค่าจะช่วยป้องกันภาวะเงินฝืด แต่ก็อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน ราคานำเข้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจ อาจส่งผลให้ระดับราคาโดยรวมในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น

ความไม่แน่นอน

การที่เงินอ่อนค่า แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการวางแผนและความกังวลของนักลงทุนต่างชาติค่ะ ซึ่งก็อาจจะเกิดการลดการลงทุนในประเทศที่สกุลเงินอ่อนค่า จนเกิดความผันผวนของค่าเงินและเศรษฐกิจในประเทศได้เช่นกัน

แรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกลางอาจต้องมีการตอบสนองการอ่อนค่าของสกุลเงินโดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลเสียต่อต้นทุนการกู้ยืมและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ค่ะ

ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้

ผลกระทบของการที่ค่าเงินอ่อนค่า อาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้รุนแรงขึ้นอีกค่ะ เนื่องจากประชาชนอาจไม่สามารถซื้อของหรือมีเงินเก็บเท่าเดิมได้ ในขณะที่ผู้ที่มีสถานะมั่นคงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่

เทียบข้อดีข้อเสียเมื่อเงินอ่อนค่า

ช่วงเงินอ่อนค่า ควรลงทุนอย่างไรดี ?

ลงทุนในช่วงเงินอ่อนค่า

รับข่าวสารและทำการวิเคราะห์

ติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ, นโยบายของธนาคารกลาง และเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เรากำลังสนใจลงทุน จากนั้นประเมินพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้อง ดูปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, การจ้างงาน และดุลการค้า เพื่อวัดความสมบูรณ์โดยรวมของเศรษฐกิจว่ามีความน่าลงทุนมากน้อยแค่ไหน

อย่าลืมใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อระบุแนวโน้ม แนวรับ และแนวต้าน ไว้ด้วยนะคะ ซึ่งสามารถเลือกใช้ Indicators ได้ตามที่เราถนัดเลย

กระจายความเสี่ยง, บริหารความเสี่ยง และป้องกันความเสี่ยง

กระจายการถือครองสกุลเงินเพื่อกระจายความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่อย่าลืมมีสกุลเงินผสมหรือคู่สกุลเงินในการซื้อขายที่ไม่มีความสัมพันธ์กันมากนักไว้ในพอร์ตด้วย เพราะถ้าหากเราถือแต่คู่สกุลเงินที่มีความสัมพันธ์กัน ข้อดีคือหากเราถือถูกหน้า (เช่น หน้า Sell หน้า Buy) ก็จะทำให้เราทำกำไรได้ในทุกสกุลเงินหรือสินทรัพย์ที่เราถือ แต่ถ้าหากว่าผิดทาง ก็อาจส่งผลเสียต่อพอร์ตเราได้มากเช่นกันค่ะ

เพราะฉะนั้นการถือสกุลเงินหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือสัมพันธ์กันต่ำ ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบของค่าเงินที่อ่อนค่าลงได้เช่นกันนะคะ

พิจารณาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ในช่วงที่ค่าเงินอ่อนค่า นักลงทุนมักจะมองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น ทองคำหรือสกุลเงินที่มีเสถียรภาพค่ะ

เพราะฉะนั้นการมองหาสินทรัพย์หรือสกุลเงินปลอดภัยไว้ในพอร์ตเราด้วย พอร์ตเราก็จะมีความเสี่ยงต่ำ ถึงแม้จะเป็นช่วงที่เงินอ่อนค่า

มีวินัย

เมื่อเราวางแผนด้านการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแค่การทำตามแผนและมีวินัยกับแผนที่เราคิดไว้ค่ะ สิ่งสำคัญเลยที่เทรดเดอร์หรือนักลงทุนมักจะมองข้ามหรือผิดพลาดกับมันก็คือการไม่ทำตามแผนและปล่อยให้อารมณ์หรือความกลัวเป็นใหญ่กว่าเหตุและผลค่ะ เพราะฉะนั้น การมีวินัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ๆ เลยค่ะ

คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับเงินอ่อนค่า

คือ การลดลงของมูลค่าสกุลเงินของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ โดยมักวัดจากการลดลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อดี

  • ส่งเสริมการส่งออก ได้ผลตอบแทนมากขึ้น
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • การชำระหนี้
  • ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ

ข้อเสีย

  • ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น
  • ความสามารถในการจับจ่ายซื้อขายลดลง
  • แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
  • ความไม่แน่นอน
  • แรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ย
  • ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้

  1. ศึกษาข้อมูลและข่าวสาร
  2. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
  3. ศึกษาสินทรัพย์ปลอดภัย
  4. ดูว่าคู่สกุลเงินหรือสินทรัพย์ใดได้ผลประโยชน์เมื่อสกุลเงินอ่อนค่า
  5. บริหารเงินลงทุน

สรุปเงินอ่อนค่าคืออะไร ?

การที่เงินอ่อนค่า ไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่แย่เสมอไปนะคะ เพราะทั้งประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่าลง และนักลงทุนยังคงหาทางสร้างผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินอ่อนค่าได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือผลกระทบของการอ่อนค่าของสกุลเงินอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน รวมไปถึงวิธีการรับมือของรัฐบาลและธนาคารของแต่ละประเทศ

คุณน้าหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเงินอ่อนค่าและเงินแข็งค่าได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

คุณน้าพารู้จักเงินอ่อนค่า

ขอบคุณข้อมูลจาก : Investopedia 

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

คุณน้า
คุณน้า
คุณน้าเป็นเทรดเดอร์ที่คลุกคลีอยู่ในตลาดต่าง ๆ ร่วม 10 ปี จึงอยากนำความรู้ที่มีมาแบ่งปันให้กับทุกคน
Recent Post
Moving Average คืออะไร? Indicator ตัวดังของเหล่าเทรดเดอร์สายเทคนิค
Moving Average คืออะไร? Indicator ตัวดังของเหล่าเทรดเดอร์สายเทคนิค ห้ามพลาด!

ในวันนี้คุณน้าพาเทรดจะพาทุกคนมารู้จักกับอินดิเคเตอร์พื้นฐานที่ได้รับความนิยมจากเทรดเดอร์เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ Moving Average (MA)

วิเคราะห์ราคาทองคำ
คุณน้าพาเทรดทอง : วิเคราะห์ทองคำวันที่ 9 พฤษภาคม 2567

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 กันค่า

แนวต้าน : 2,320 / 2,325 / 2,345
แนวรับ : 2,307 / 2,290 / 2,275

วิเคราะห์ราคาทองคำ
คุณน้าพาเทรดทอง : วิเคราะห์ทองคำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2567 กันค่า

แนวต้าน : 2,325 / 2,335 / 2,350
แนวรับ : 2,310 / 2,295 / 2,280