การเจ็บป่วยและความตายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ไม่รู้ว่าทุกคนจะคิดแบบคุณน้ามั้ย? แต่สำหรับคุณน้า เรื่องเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ทำให้เราได้ลิ้มรสว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐจริง ๆ ค่ะ และช่วงที่เราเจ็บป่วยนี้เองที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของการทำประกัน แต่ประกันมีหลายแบบ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ประกันแบบไหนดี? ดังนั้น วันนี้เราจะมาพูดถึง “ประกันชีวิต” กันก่อนค่ะ และหากมีโอกาส คุณน้าจะนำเสนอประกันประเภทอื่น ๆ ต่อไปค่ะ
ประกันคืออะไร?
ประกัน คือ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันทำไว้กับบริษัทประกันค่ะ โดยปกติ ความคุ้มครองจะขึ้นอยู่กับประเภทของประกันที่ผู้เอาประกันเลือกทำ ตัวอย่างเช่น
- ประกันชีวิต ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการเสียชีวิต
- ประกันสุภาพ ให้ความคุ้มครองการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
- ประกันอัคคีภัย ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินจากความเสียหายเหตุไฟไหม้
- ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์

ประกันชีวิตคืออะไร?
ประกันชีวิต คือ ประกันชนิดหนึ่งที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับชีวิต กล่าวคือ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตจากเหตุที่ระบุไว้ตามกรมธรรม์ บริษัทประกันจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาค่ะ
โดยประกันชีวิตสามารถแบ่งได้ 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ
- ประกันชีวิตตลอดชีพ
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
- ประกันชีวิตสะสมทรัพย์
- ประกันบำนาญ หรือประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ
บริษัทประกันชีวิตได้กำไรจากไหน?
หากถามว่า บริษัทประกันจะได้อะไรจากเรา ในเมื่อคนเรายังไงก็ต้องเสียชีวิตอยู่แล้ว คำตอบก็คือ “เบี้ยประกัน” ค่ะ เพราะผู้เอาประกันจะต้องส่งเบี้ยประกันทุกปีตลอดอายุสัญญา ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้หมุนเวียนเพื่อการลงทุนและใช้จ่ายเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปนั่นเองค่ะ
และไม่ต้องห่วงว่า บริษัทประกันจะขาดทุนจนล้มละลายไม่มีเงินจ่ายเราเลยค่ะ เพราะบริษัทประกันมีเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงผู้เอาประกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำประกันชีวิตได้ อีกทั้ง หากเหตุที่เกิดขึ้นไม่เข้าเกณฑ์ก็อาจจะไม่ได้รับเงินชดเชยด้วยค่ะ นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันชีวิตยังมีอายุสัญญาแตกต่างกัน หากผู้เอาประกันไม่ได้เสียชีวิตในช่วงสัญญาก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยตามสัญญา แต่จะได้รับเป็นเงินทุนที่ใช้เอาประกันแทนค่ะ
ประกันชีวิตมีความสำคัญอย่างไร?
บางคนอาจมองว่า ตัวเองอายุยังน้อย ความตายเป็นเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้น ประกันชีวิตจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะฉะนั้น คุณน้าจะพาทุกคนไปดูความสำคัญของประกันชีวิตกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

- เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
ประกันชีวิตสามารถใช้เป็นหลักประกันให้กับคนข้างหลังได้ค่ะ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เงินชดเชยที่ได้จากประกันชีวิตจะถูกใช้เป็นมรดกหรือทุนไว้ให้คนที่เรารักได้ค่ะ โดยปกติแล้ว ทุกคนจะมีภาระแตกต่างกัน ซึ่งหากไม่มีภาระหรือคนที่ต้องดูแลก็แล้วไป แต่หากคุณเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ประกันชีวิตก็ถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้ดีค่ะ
นอกจากนี้ ประกันชีวิตยังสามารถใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้ ทั้งจากการกู้เงินตามกรมธรรม์จากบริษัทประกันซึ่งมีดอกเบี้ยไม่สูงมาก และการนำเงินชดเชยที่ได้รับเมื่อเสียชีวิตมาใช้หนี้ เรียกได้ว่า คนข้างหลังไม่ต้องลำบากใช้หนี้ต่อจากเราเลยค่ะ
- การออมทรัพย์และการลงทุน
การทำประกันนั้น ผู้เอาประกันจะต้องส่งเบี้ยประกันติดต่อกันทุกปีตามอายุสัญญา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่ใช่น้อย ๆ เลยค่ะ ดังนั้น การทำประกันชีวิตจึงถือเป็นการฝึกวินัยการออมทรัพย์ได้เช่นกัน อีกทั้ง หากครบกำหนดสัญญาแล้วเรายังมีชีวิตอยู่ก็จะได้เงินต้นคืนพร้อมกับดอกเบี้ย นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่ได้ผลตอบแทนแน่นอน ความเสี่ยงต่ำ แถมยังได้ความคุ้มครองด้วยค่ะ
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ผลประโยชน์ของประกันชีวิตที่ไม่ควรมองข้าม คือ สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เพราะเบี้ยที่ใช้จ่ายประกันชีวิตนั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันแบบบำนาญสูงสุด 200,000 บาท โดยทั้ง 2 แบบมีข้อจำกัด คือ ต้องเป็นบริษัทประกันในไทย และมีระยะคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปค่ะ สามารถติดตามการวางแผนลดหย่อนภาษีได้ที่นี่
วิธีการเลือกซื้อประกันชีวิตให้ได้สิทธิประโยชน์สูงสุด
ประกันชีวิตมีหลายประเภท แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวเองเหมาะกับประกันแบบไหน วันนี้คุณน้าจะพาทุกคนไปดูวิธีการเลือกซื้อประกันชีวิตกันค่ะ
1. ศึกษาประกันชีวิตแต่ละประเภท
อันดับแรกเลย ทุกคนต้องทำความรู้จักประกันชีวิตแต่ละประเภทกันก่อนค่ะ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

- ประกันชีวิตตลอดชีพ
ประกันชีวิตตลอดชีพเป็นการจ่ายเบี้ยประกันระยะยาวเพื่อแลกกับความคุ้มครองตลอดชีวิต (หรือจนถึงอายุ 99 ปี) เรียกว่า ถือกรมธรรม์เล่มเดียวจบ ไม่ต้องทำประกันชีวิตใหม่เมื่อครบสัญญา
ประกันชีวิตรูปแบบนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงอย่างผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว และมีความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันในระยะยาวได้ เนื่องจากประกันชีวิตตลอดชีพมักจะมีเบี้ยประกันแบบคงที่ ณ ช่วงอายุที่เอาประกัน และครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงค่ะ
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาเป็นการจ่ายเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาที่ทำสัญญา อาจจะเป็น 5 ปี, 10 ปี หรือ 15 ปี ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ หากหมดสัญญาแล้วยังต้องการความคุ้มครองก็ต้องทำใหม่ค่ะ
ประกันชีวิตรูปแบบนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้อาจไม่สามารถหาเงินมาชำระเบี้ยประกันในระยะยาวได้ เพราะเบี้ยประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลานี้มักจะถูกกว่าเบี้ยประกันตลอดชีพนั่นเองค่ะ
- ประกันชีวิตสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตสะสมทรัพย์เป็นการจ่ายเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาที่ทำสัญญาเช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แต่มีความโดดเด่นอยู่ที่เงินคืน ซึ่งจะมีจำนวนสูงกว่าประกันชีวิตรูปแบบอื่น ๆ ทำให้มันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากค่ะ
ประกันชีวิตรูปแบบนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนแต่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงินควบคู่กับการคุ้มครองค่ะ
- ประกันบำนาญ
ประกันบำนาญ หรือประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำเป็นการจ่ายเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาที่ทำสัญญาหรือจนกว่าจะเกษียณ ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันจะเริ่มทยอยได้รับเงินคืนหลังจากเกษียณอายุจนถึงอายุที่กรมธรรม์กำหนด ดังนั้น เราจึงเรียกประกันชีวิตรูปแบบนี้ว่า ประกันบำนาญค่ะ
ประกันชีวิตรูปแบบนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณ ทำให้หมดห่วงว่าจะไม่มีเงินบำนาญเมื่อแก่ตัวไปค่ะ
2. พิจารณาอายุ

อายุ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกประกันเป็นลำดับแรก ๆ เพราะอายุที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อเบี้ยประกันและตัวเลือกแผนประกันที่แตกต่างกันค่ะ อีกทั้ง อายุ ยังใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาภาระต่าง ๆ ได้ เพราะคนที่อายุยังน้อยส่วนมากจะไม่ค่อยมีภาระมากนัก ขณะที่อายุมากขึ้นจะเริ่มมีภาระต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ส่งผลต่อความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันค่ะ
3. พิจารณาความเสี่ยง
ปัจจัยในข้อนี้สำคัญต่อการเลือกประกันมาก เพราะคนเรามีความเสี่ยงแตกต่างกัน ซึ่งประกอบด้วยความเสี่ยงดังต่อไปนี้ค่ะ

- ความเสี่ยงด้านสุขภาพ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์, วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากคุณคิดว่า ตัวเองกำลังเผชิญความเสี่ยงเหล่านี้ การเลือกประกันชีวิตควบประกันสุขภาพ หรือประกันสุขภาพก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่าค่ะ
- ความเสี่ยงด้านรายได้ หากเป็นคนที่มีงานประจำทำหรือมีรายได้หลายทางย่อมมีความมั่นคงมากกว่าผู้ที่รับจ้างชั่วคราวหรือผู้ทำงานอิสระ เนื่องจากรายได้อาจเกิดความไม่แน่นอน ดังนั้น เราจึงควรเลือกแผนประกันที่สอดคล้องกับรายได้ของตัวเองนั่นเองค่ะ
- ความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน เนื่องจากคนเรามีสภาพคล่องและภาระแตกต่างกัน บางคนอาจจะเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว บางคนอาจจะมีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อยานพาหนะหรือที่อยู่อาศัย หรือภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ ดังนั้น อย่าลืมประเมินความเสี่ยงในด้านนี้ คิดถึง Worst Case ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อประกอบการเลือกแผนประกันก็ได้ค่ะ
4. พิจารณาความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์

ประกันชีวิตแน่นอนว่าย่อมให้ความคุ้มครองชีวิต แต่อย่างไรก็ดี บริษัทประกันในปัจจุบันได้ออกแบบแผนประกันมาอย่างมากมายหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ประกันชีวิตควบการลงทุน และประกันชีวิตควบประกันสุขภาพ เป็นต้น ดังนั้น เราจึงควรเลือกแผนประกันที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุดค่ะ
หากพิจารณาตามปัจจัยในข้างต้น คนที่อายุยังน้อยดูเหมือนตัวเลือกจะเยอะและหลากหลายกว่า ดังนั้น หากเป็น First Jobber ที่ไม่มีความเสี่ยงหรือภาระต่าง ๆ มากนัก มั่นใจว่าจ่ายเบี้ยประกันไหว ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีค่ะ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างวินัยในการออมได้แล้ว ยังช่วยลดหย่อนภาษีด้วย
แต่หากคุณมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ประกันชีวิตควบประกันสุขภาพก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาความเสี่ยงของตนเองให้รอบด้าน จากนั้นค่อยมาดูความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะกับตัวเองค่ะ
คำถามที่พบบ่อย
❓หากบริษัทประกันล้มละลาย เรายังจะได้รับเงินคืนหรือไม่? |
คำตอบ ได้รับเงินคืนค่ะ เพราะบริษัทประกันอยู่ในความคุ้มครองของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งมีกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันภัย เมื่อบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต, ล้มละลาย หรือเลิกกิจการ โดยคุ้มครองรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท |
❓มีประกันชีวิตที่คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณีหรือไม่? |
คำตอบ มีค่ะ แต่หากมีประวัติการรักษาโรคหรือความเสี่ยงอาจจะไม่สามารถทำประกันชีวิตคุ้มครองทุกกรณีได้ หรือหากทำได้ บริษัทประกันอาจเรียกเก็บเบี้ยประกันเพิ่มสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ดี บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองกรณีดังต่อไปนี้ : ปกปิดและไม่เปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญ หรือให้ข้อมูลเท็จ, ฆ่าตัวเองตายโดยเจตนาภายใน 1 ปี, ถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา, ไม่ชำระเบี้ยจนสัญญาประกันขาดอายุ และเข้าใจว่าทำประกันชีวิต |
❓มีประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุหรือไม่? |
คำตอบ มีค่ะ แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการ เช่น การเรียกร้องให้ตรวจสุขภาพ หรือจำเป็นต้องชำระเบี้ยประกันสูงขึ้น ทั้งนี้ ส่วนมากผู้สูงอายุที่ทำได้มักจะอยู่ที่ประมาณ 70-75 ปี แล้วแต่บริษัทประกันและกรมธรรม์นั้น ๆ ค่ะ |
❓มีประกันชีวิตแบบจ่ายรายเดือนหรือไม่? |
คำตอบ มีค่ะ แต่การจ่ายเบี้ยประกันรายเดือนจะแพงกว่าแบบรายปี ทั้งนี้ ต้องตรวจสอบกับบริษัทประกันหรือตัวแทนจำหน่ายให้แน่ชัดก่อนค่ะ |
❓ทุนประกันชีวิตต้องเสียภาษีหรือไม่? |
คำตอบ ไม่ต้องค่ะ เงินทุนประกันที่ได้เมื่อครบกำหนดสัญญาตามกรมธรรม์ และเงินชดเชยตามกรมธรรม์ไม่ต้องเสียภาษี ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินแบบเต็มจำนวน |
ตัวอย่างแผนประกันชีวิตที่ได้รับความนิยม 2023
ต่อไปนี้ คือ 5 แผนประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในปี 2023 จะมีแผนไหนบ้าง เราไปดูกันค่ะ!
1. AIA Excellent (Non Par) ประกันชีวิตเพื่อการสะสมทรัพย์

ประกันชีวิตประเภท : ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน : 20 ปี
ระยะเวลาคุ้มครอง : 20 ปี
ช่วงอายุผู้ขอเอาประกัน : 15 วัน – 75 ปี
จำนวนเงินเอาประกันขั้นต่ำ : 100,000 บาท
2. MTL เมืองไทยประกันชีวิต (mDesign ความสุขทุกช่วงชีวิตที่ออกแบบได้)

ประกันชีวิตประเภท : ประกันชีวิตควบการลงทุน
ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน : ถึงอายุ 99 ปี
ระยะเวลาคุ้มครอง : ถึงอายุ 99 ปี
ช่วงอายุผู้ขอเอาประกัน : 30 วัน – 70 ปี
จำนวนเงินเอาประกันขั้นต่ำ : 20,000 บาท (สำหรับรายปี)
3. ไทยประกันชีวิต (ไทยประกันชีวิต คุ้มธนกิจ 90/7)

ประกันชีวิตประเภท : ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน : 7 ปี
ระยะเวลาคุ้มครอง : ถึงอายุ 90 ปี
ช่วงอายุผู้ขอเอาประกัน : 1 เดือน – 65 ปี
จำนวนเงินเอาประกันขั้นต่ำ : 300,000 บาท
4. ไทยสมุทร (รีไทร์ เรดดี้ 85/55)

ประกันชีวิตประเภท : ประกันบำนาญ
ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน : ถึงอายุ 55 ปี
ระยะเวลาคุ้มครอง : ถึงอายุ 85 ปี
ช่วงอายุผู้ขอเอาประกัน : 20 ปี – 50 ปี
จำนวนเงินเอาประกันขั้นต่ำ : 100,000 บาท
5. กรุงเทพประกันชีวิต (ห่วงรัก พรีเมียร์ 9901 มีเงินปันผล)

ประกันชีวิตประเภท : ประกันชีวิตตลอดชีพ
ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน : ครั้งเดียว
ระยะเวลาคุ้มครอง : ถึงอายุ 99 ปี
ช่วงอายุผู้ขอเอาประกัน : แรกเกิด – 70 ปี
จำนวนเงินเอาประกันขั้นต่ำ : 100,000 บาท
สรุปประกันชีวิตแบบไหนดี?
ประกันชีวิตถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบริหารความเสี่ยง เพราะหากผู้เอาประกันเสียชีวิต ภาระต่าง ๆ จะไม่ไปหนักคนข้างหลังค่ะ อย่างไรก็ดี แผนประกันจะส่งผลต่อความคุ้มครองและเงินทุนประกันด้วย ดังนั้น เราจึงควรเลือกแผนประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์สอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ ของตนเอง
เพราะฉะนั้น หากจะให้บอกว่า ประกันชีวิตแบบไหนดี? ก็ต้องตอบว่า ประกันชีวิตที่เหมาะกับตัวเองค่ะ เพราะหากเลือกประกันชีวิตไม่ตรงกับไลฟ์สไตล์หรือความต้องการของตัวเอง นอกจากจะไม่ได้สิทธิประโยชน์สูงสุดแล้วก็อาจจะไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้นั่นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge